The Dangerous Gap คือพาดหัวหน้าหนึ่งบน นิตยสาร The Economist ซึ่งอธิบายปรากฎการณ์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นดั่งกระทิง ทั้งที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิดยังไม่จางหายไป
ดัชนี NASDAQ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ เสมือนว่าโลกนี้ไม่มีไวรัสโควิดเกิดขึ้น (พอเข้าใจได้ว่าหุ้นเทคโนโลยีไม่ได้รับผลกระทบเท่าไรแถมได้ประโยชน์อีกด้วย) ดัชนี S&P500 กำลังจะกลับไปอยู่ในจุดเดิมก่อนเกิดวิกฤติ หุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างสายการบินปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง
Wall Street เปรียบเสมือนตัวแทนของภาคการเงิน ส่วน Main Street เป็นตัวแทนของภาคเศรษฐกิจจริง อดีตที่ผ่านมาทั้งสองส่วนจะมีทิศทางเดียวกัน คือหากเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรง ตลาดหุ้นก็จะคึกคักไปด้วย หากเศรษฐกิจแย่ ตลาดหุ้นก็จะแย่ไปด้วย
แต่ในขณะที่คนอเมริกันและทั่วโลกตกงานเป็นจำนวนมากชนิดที่ระดับความเลวร้ายเท่ากับสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นชนิดที่สวนทางกับความรู้สึก จึงเป็นที่มาของคำว่า The Dangerous Gap ระหว่างภาคการเงินกับเศรษฐกิจจริง
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : การมาของ “หยวนดิจิทัล-ลิบรา” เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตคนไทย เราควรเรียนรู้อะไรจากมัน
ขณะที่ตลาดคริปโต หรือจะเรียกว่า Crypto Street ก็ได้ จะเลือกอยู่ฝั่งไหนหรือจะเดินในทิศทางของตัวเอง??
ท่ามกลางตลาดหุ้นที่พุ่งอย่างร้อนแรง ตลาดคริปโตไม่ได้พุ่งขึ้นตาม รวมถึงทองคำที่เป็น Safe Haven ก็ถูกเทขาย แสดงว่าคริปโตถูกแยกตัวออกจาก Wall Street แต่เมื่อใดที่เม็ดเงินที่เกิดจากเครื่องจักรผลิตเงิน (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ลงเหลือค้างอยู่ในระบบจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เมื่อนั้นคริปโตจะเข้ามาทำหน้าที่ของมันเองด้วยการเป็นสกุลเงินทางเลือก
วิกฤติโควิด-19 ทำให้ตำราทางเศรษฐศาสตร์และการลงทุนต้องปรับปรุงขึ้นใหม่ หนึ่งในนั้นจะต้องรวมการมีตัวตนของสกุลเงินดิจิทัลเข้าไปด้วย
อ่านเพิ่มเติม : (วิเคราะห์) นอกจาก Facebook จะมีใครสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองได้อีก
วิเคราะห์ทางกราฟเทคนิค BTC
หันมามองภาพใหญ่ของบิทคอยน์ จะเห็นได้ว่าการขึ้นไปทดสอบระดับ 10,400 ดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการทดสอบเส้นเทรนด์ไลน์ขากดในภาพใหญ่ซึ่งลากลงมาจากจุดสูงสุด 19,900 ดอลลาร์ และมีการขึ้นไปทดสอบแนวต้านนี้มาแล้วในปีที่แล้วแต่ไม่ผ่าน
ตลอดทั้งเดือนนี้จะต้องจับตาทิศทางการเคลื่อนไหวของบิทคอยน์ว่าจะเลือกทิศทางในภาพใหญ่อย่างไร สมมุติฐานแรกหาก Breakout ผ่านเทรนด์ไลน์นี้ไปได้ จะมีแนวต้านแรกตามแนว Fibonacci ที่ 11,451 ดอลลาร์ และเป้าหมายใหญ่คือทดสอบจุดสูงสุดเดิม
แต่ถ้าทดสอบแล้วไม่ผ่าน ราคาอาจจะเคลื่อนไหวในกรอบไซด์เวย์ โดยมีแนวรับสำคัญอยู่ที่ 7,000 ดอลลาร์ แต่หากยังรับไม่อยู่ทิศทางจะเปลี่ยนเป็นขาลง โดยมีแนวรับสำคัญคือเส้นเทรนด์ไลน์ด้านล่างที่ประครองภาพของบิทคอยน์ในระยะยาวในรูปแบบสามเหลี่ยมที่กำลังบีบตัวอยู่
สำหรับภาพระยะสั้น บิทคอยน์ยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (EMA) 89,200 วัน ในภาพใหญ่จึงยังเป็นขาขึ้น และไม่นานมานี้เส้น EMA89 ยังได้ตัดเส้น EMA200 วันขึ้น จึงเข้ารูปแบบของ Golden Cross ที่จะพาบิทคอยน์เป็นขาขึ้นได้
อ่านเพิ่มเติม : บิทคอยน์-ลิบรา-หยวนดิจิทัล ใครจะได้ปกครองระบบการเงินโลกใหม่