Libra สกุลเงินดิจิทัลที่สร้างขึ้นโดย Facebook ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียของโลกกำลังจะเปิดตัวให้ใช้งานกันแล้วภายในปีนี้ หลังจากกลับไปปรับปรุง Whitepaper ใหม่ให้รองรับกฎระเบียบทางการเงินมากขึ้น
แต่นอกจาก Libra แล้ว เป็นไปได้อีกไหมว่ายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอื่นๆจะหันมาสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองบ้าง โดยเฉพาะ Tech Giant ที่มีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง มีจำนวนผู้ใช้งานกว่าพันล้านรายทั่วโลก ทุกรายต่างมีศักยภาพในการสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางธุรกิจ
เมื่อสำรวจความเป็นไปได้และการแสดงออกเกี่ยวกับเงินดิจิทัลที่ผ่านมา น่าจะพอวิเคราะห์ได้ประมาณนี้
กลุ่มที่มีเกิดขึ้นแล้วและรอการต่อยอด: Line
Tech Giantที่มีโอกาสสูงมากที่จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมาก็คือ Line แอปแชทชื่อดังที่มีฐานผู้ใช้อยู่ในเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่น ไต้หวันและประเทศไทย
Line มีความพยายามที่จะพาตัวเองเข้าสู่ธุรกิจการเงินเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ขอไลเซ่นส์การเป็นธนาคารออนไลน์ในไต้หวัน จับมือร่วมกับธนาคารกสิกรไทยในการให้บริการทางการเงิน ส่วน Line ในประเทศญี่ปุ่นสามารถโอนเงินหากัน ซื้อหุ้น ซื้อประกัน ได้หมด
ที่สำคัญคือ Line ได้ยื่นขอไลเซ่นส์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ Bitbox และด้วย Ecosystem และช่องทางรายได้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขายสติ๊กเกอร์ (ปกติใช้เหรียญในการแลกอยู่แล้ว) รวมถึงการเป็น Marketplace สำหรับการขายของออนไลน์
จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่ Line จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองมาใช้ในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ ซึ่ง Line ได้ทำการเปิดตัวเหรียญคริปโตของตัวเองชื่อ Link ขึ้นตั้งแต่ปี 2018 รวมถึงตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล Unblock Ventures ที่เน้นลงทุนในสตาร์ทอัพสายบล็อกเชน
อย่างไรก็ตามเหรียญ Link ของ Line ยังไม่เป็นที่ใช้งานในวงกว้างมากนักอาจเป็นเพราะ Line เลือกที่จะทำตามกฎระเบียบทางด้านการเงินของแต่ละประเทศทำให้ Link มีการใช้งานอยู่เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น แม้แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้เปิดตัวแต่อย่างไร
ถึงอย่างไรเราน่าจะได้เห็นพัฒนาการของสกุลเงินดิจิทัลของ Line มากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน เมื่อเห็นนโยบายธุรกิจที่เน้นในด้านคริปโตและบล็อกเชนขนาดนี้
บทความอื่นที่น่าสนใจ : (วิเคราะห์) จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ Facebook Shop กับ Libra 2.0 ผนึกกำลังกัน
กลุ่มที่มีศักยภาพและมีลุ้นที่จะสร้างออกมา : Twitter Alibaba Tencent
หากจะมองหาผู้ก่อตั้งหรือซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นแฟนพันธ์แท้ของเงินดิจิทัลมากที่สุดคงต้องยกให้ Jack Dorsey ซีอีโอของ Twitter อย่างแน่นอน เขาถึงกับสร้างไอคอนพิเศษให้กับผู้ที่ติดแฮชแท็ก #BTC หรือ #Bitcoin จะมีโลโก้บิทคอยน์ขึ้นมา
Twitter ยังเป็นโซเชียลมีเดียที่ถูกใช้เป็นสังคมของผู้ที่อยู่ในสังคมของเงินดิจิทัลเช่นเดียวกับ Telegam ขณะที่รูปแบบรายได้ก็มาจากค่ายิงโฆษณาเช่นเดียวกับ Facebook
แม้จำนวนผู้ใช้งานจะไม่มากเท่ากับ Facebook แต่ด้วยกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้เงินดิจิทัล จึงเป็นไปได้เช่นกันที่ Twitter จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม Jack Dorsey ซีอีโอของ Twitter ไม่เคยออกมาพูดถึงการสร้างเงินดิจิทัลเป็นของตัวเองเลย ถ้าหากเกิดขึ้นจริงก็อาจต้องใช้คำว่าเซอร์ไพร์ส
ทางด้าน Alibaba ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ ที่กลายมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจการเงินด้วยการเป็นเจ้าของ Ant Financial ฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนอกจากเป็นเจ้าของระบบชำระเงิน Alipay ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่าพันล้านราย ยังเป็นเจ้าของธนาคารออนไลน์ที่เน้นปล่อยกู้เอสเอ็มอีอย่าง WeBank อีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่สักวัน Alibaba จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลใช้ใน Ecosystem ของตัวเอง
เช่นเดียวกับ Tencent ที่มีรากฐานมาจากผู้ผลิตเกมส์และ App Chat อย่าง WeChat แต่ก็เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มชำระเงินที่มีผู้ใช้หลักพันล้านรายอย่าง WeChat Pay รวมถึงธนาคารออนไลน์อย่าง MyBank
เหตุผลที่ Alibaba และ Tencent จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นก็เพราะประเทศจีนได้ยกระดับเรื่องการพัฒนาบล็อกเชนขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติซึ่งทั้งสองบริษัทได้มีการจดสิทธิบัตรและถือหุ้นในสตาร์ทอัพด้านบล็อกเชนไว้จำนวนมาก
ที่สำคัญจีนกำลังจะเปิดตัวสกุลเงินหยวนดิจิทัลออกมาในปีนี้ การจะเร่งขยายฐานผู้ใช้งานให้ครอบคลุมทั่วประเทศและทั่วโลกอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ใช้งานของทั้ง Alibaba และ Tencent อย่างแน่นอน
จึงมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ Alibaba และ Tencent จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกับเงินหยวนดิจิทัลของรัฐบาล
บทความอื่นที่น่าสนใจ : การมาของ “หยวนดิจิทัล-ลิบรา” เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตคนไทย เราควรเรียนรู้อะไรจากมัน
กลุ่มที่มีศักยภาพแต่ไม่น่าจะสร้างออกมา: Google Apple Amazon Starbucks
หากจะหาผู้ที่เป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ Facebook มากที่สุดคงหนีไม่พ้น Google อย่างแน่นอน ด้วยจำนวนผู้ใช้งานหลักพันล้านรายทั่วโลกเช่นกัน แม้ว่า Google จะไม่ได้สร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยตรง
แต่ด้วย Ecosystem ทางด้านดิจิทัลที่แถบจะครบถ้วนสมบูรณ์และมีรายได้หลักมาจากโฆษณา ตั้งแต่ Search Engine,Youtube และล่าสุดกับธุรกิจเกมส์อย่าง Stadia จึงไม่แปลกใจที่ Google คิดจะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นบ้าง
แต่หากดูจากทัศนะคติที่มีต่อ Cryptocurrency ของ Google อาจจะเป็นไปได้ยากที่จะสร้างเงินดิจิทัลขึ้นมา เช่น การแบนช่อง Youtube ที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัลรวมถึงการถอดแอปพลิเคชั่นด้านคริปโตออกจาก Google Pay
ฟันธงว่าคงไม่ได้เห็นสกุลเงินดิจิทัลของ Google ค่อนข้างแน่นอน
ทางด้าน Apple ก็มี Ecosystem ของตัวเองที่มั่นคงและเหนียวแน่นและมีแฟนพันธ์แท้ทางด้านฮาร์ดแวร์อย่างไอโฟน รวมถึงมีจำนวนผู้ใช้งานระดับพันล้านคนทั่วโลกเช่นกัน
ปัจจุบัน Apple กำลังมุ่งสร้างรายได้จากซอฟท์แวร์มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการจำหน่ายไอโฟนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายแอปพลิเคชั่นบน Apple Store และล่าสุดกับการรุกเข้ามาในธุรกิจคอนเทนท์อย่าง Apple TV
เคยมีคำกล่าวว่า Apple มีศักยภาพในการเป็นธุรกิจการเงินได้ในตัวเองจากการที่เป็นแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม Apple ได้พัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงินของตัวเองในชื่อ Apple Pay และต่อยอดไปถึง Apple Card ซึ่งเป็นบัตรเครดิตที่จับมือกับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง Goldman Sachs และ Mastercard ชูจุดเด่นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
การที่ Apple จับมือกับสถาบันการเงินรายใหญ่อย่าง Goldman Sachs ซึ่งค่อนข้างมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคริปโต ขณะที่ Mastercard ก็ถอนตัวออกจากสมาคม Libra แล้ว จึงเป็นไปได้ยากที่จะเห็น Apple มาข้องเกี่ยวกับเงินดิจิทัล
ขณะที่ Amazon และ Starbucks ต่างมีฐานผู้ใช้งานระดับพันล้านรายทั่วโลกทั้งสิ้น โดยเฉพาะ Starbucks ทีมียอดเงินอยู่ในบัตรสมาชิกมากกว่าธนาคารเสียอีก หากผู้บริหารคิดจะต่อยอดเม็ดเงินตรงนี้ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลก
อย่างไรก็ตามทั้งสองบริษัทไม่เคยให้ความสนใจในเงินดิจิทัลมาก่อน แม้จะมีฟินเทคบางรายที่พัฒนาระบบให้สามารถซื้อกาแฟ Starbucks ได้ด้วยคริปโต แต่บริการนี้ก็ไม่ได้เป็นนโยบายหลักของ Starbucks
เช่นเดียวกับข่าวที่ว่าจีนได้ทดลองให้สามารถซื้อกาแฟ Starbucks ได้ด้วยหยวนดิจิทัล แต่ก็เป็นเพียงการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าเท่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง
ขณะที่ Amazon ช่วงหลักๆสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจ Cloud และ AWS ในระดับเดียวกับอีคอมเมิร์ซแล้ว จึงดูไม่จำเป็นที่จะต้องมีสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง
สรุปคือเราคงไม่มีทางได้เห็นสกุลเงินดิจิทัลจากสองยักษ์ใหญ่จากฝั่งสหรัฐฯสองรายนี้
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : บิทคอยน์-ลิบรา-หยวนดิจิทัล ใครจะได้ปกครองระบบการเงินโลกใหม่
เวลานี้สกุลเงิน Libra ของ Facebook อาจจะเป็นสกุลเงินดิจิทัลเพียงหนึ่งเดียวที่ออกมาจากภาคเอกชนที่เป็น Tech Company แต่หากประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับทั่วโลกก็อาจเป็นไปได้ว่าเราจะเห็นสกุลเงินดิจิทัลที่มาจากบริษัทเทคโนโลยีมากขึ้นเช่นกัน