ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก
ประชาชนถูกกระตุ้นให้คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ด้านผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “SME” (เอสเอ็มอี) ก็กำลังเผชิญความท้าทายในการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งทุนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเช่นกัน
ไม่เว้นแม้แต่ภาคการเกษตรซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เงินทุนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการลงทุนตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เปิดช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการอย่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME หรือเอสเอ็มอี) และวิสาหกิจเริ่มต้น (startup หรือสตาร์ทอัพ) ที่สะดวกขึ้น ซึ่งนอกจากการเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP) แล้วนั้น ยังมีวิธีการระดมทุนทางเลือกใหม่ ๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech เข้ามาช่วยปลดล็อกข้อจำกัดอีกด้วยดังนี้
(1) การเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้ด้วย Crowdfunding (Investment-based Crowdfunding) หมายถึง การระดมทุนจากมวลชนผ่านเว็บไซต์โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่างระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งแต่ละคนสามารถลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก แต่เมื่อรวมกันแล้วก็เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการในการใช้เงินของกิจการได้ และผู้ลงทุนก็จะได้หุ้นหรือหุ้นกู้ของบริษัทไปตามสัดส่วนเงินลงทุน (ซึ่งอาจได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือส่วนต่างราคาหากเป็นการลงทุนในหุ้น และได้ดอกเบี้ยหากลงทุนหุ้นกู้) โดยตัวกลาง หรือ Funding Portal ซึ่งทำหน้าที่คัดกรองบริษัทที่จะเข้าระดมทุนนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
ยกตัวอย่างผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่ใช้ Crowdfunding เป็นช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุนในประเทศไทย เช่น ร้านอาหารขายเนื้อชื่อ Harrison Burcher ซึ่งระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้น Crowdfunding สำเร็จเป็นรายแรกในปี 2562 ด้วยมูลค่า 18.6 ล้านบาท สำหรับกรณีศึกษาในต่างประเทศที่มีผู้ระดมทุน Crowdfunding ด้วยการเสนอขายหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจการเกษตร (Farmland)
หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการเกษตรต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม Farmfundr และ Farmtogether ในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ลงทุนจะได้รับรายได้จากผลผลิตการเกษตรที่เก็บเกี่ยวได้หรือจากส่วนต่างของราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น
ด้านการระดมทุนด้วย Crowdfunding ในรูปแบบอื่น ที่แม้ว่าจะไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. แต่ก็มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร เช่น
1. การระดมทุนด้วย Crowdfunding แบบบริจาค ผ่านแพลตฟอร์มเทใจดอทคอม เช่น โครงการตะบันน้ำ 4.0 เพื่อทำเกษตรแบบพึ่งพิงป่าที่จังหวัดเลย
2. การระดมทุนด้วย Crowdfunding แบบสิ่งของ ในต่างประเทศ เช่น การระดมทุนของเกษตรกรและเจ้าของธุรกิจอาหารผ่านแพลตฟอร์ม Barnraiser ในสหรัฐอเมริกา ที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลผลิตทางการเกษตรเป็นสิ่งตอบแทน ทั้งตะกร้าผักผลไม้ รวมถึงการเยี่ยมชมและรับประทานอาหารที่ฟาร์ม
3. การระดมทุน Crowdfunding แบบกู้ยืมหรือ Peer-to-peer lending ซึ่งแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้โดยจัดให้มีสัญญาสินเชื่อระหว่างกันและผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม Kiva องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐอเมริกา ที่ให้บริการแก่เกษตรกรผู้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดาเพื่อนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ปศุสัตว์ หรือเครื่องมือการเกษตรที่จำเป็น โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม
(2) การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (Initial Coin Offering: ICO) หมายถึง การระดมทุนด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อสาธารณชนโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างบล็อกเชน โดยผู้ระดมทุนจะเป็นผู้ออกโทเคนดิจิทัลมาแลกกับเงิน หรือคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) จากผู้ลงทุน โดยมีระบบการจัดการค่าจองซื้อโดยบุคคลที่สามที่มีความน่าเชื่อถือหรือใช้สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ทำหน้าที่เก็บรักษาค่าจองซื้อดังกล่าว
การเสนอขายโทเคนดิจิทัลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ไม่ว่าจะเป็นแบบที่กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการ (investment token) หรือแบบที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง (utility token) ที่ไม่พร้อมใช้งานทันที รวมไปถึงกรณีที่มีการอ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed)
สำหรับผู้ที่สนใจระดมทุนจะต้องยื่นแบบไฟลิ่งและร่างหนังสือชี้ชวนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก่อนเสนอขาย ส่วนคนกลาง หรือ ICO Portal ซึ่งทำหน้าที่คัดกรองบริษัทที่จะระดมทุนนั้นก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เช่นกัน
ตัวอย่างการออก ICO ของภาคการเกษตรในต่างประเทศ เช่น แพลตฟอร์ม TE-Food และ AgriChain ซึ่งนำบล็อกเชนมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลแบบ real time และเชื่อมโยงข้อมูลครบวงจรตั้งแต่แหล่งผลิต ระหว่างการขนส่ง จนส่งถึงผู้บริโภค (ซึ่งผู้ถือโทเคนสามารถใช้โทเคนดิจิทัลในการบันทึกธุรกรรมลงในบล็อกเชน)
หรือแพลตฟอร์ม Finka ซึ่งนำบล็อกเชนมาใช้ในการทำฟาร์มปศุสัตว์ โดยผู้ถือโทเคนจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานเป็นรายปี
นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร หรือที่เราคุ้นหูว่า “AgriTech” ที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ โรงเรือนอัจฉริยะ การใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจวัดคุณภาพและควบคุมแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงด้วยอินเตอร์เน็ตและสามารถสั่งการผ่านอุปกรณ์สื่อสารได้ (Internet-of-Things)
การใช้โดรนเพื่อการเกษตรกรรมในการสำรวจพื้นที่และฉีดพ่นสารอาหาร การเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนมาก (big data) เพื่อให้เกษตรกรมีข้อมูลช่วยในการตัดสินใจ การเข้าถึงตลาดด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) การวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองทางการเกษตร และคาดการณ์สภาพอากาศระหว่างการเพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI)
และการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล (machine learning) ซึ่งสามารถนำมาช่วยพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตสำหรับการคำนวณคะแนนเครดิตทางเลือกเพื่อประกอบการขอสินเชื่อได้อีกด้วย ซึ่งในประเทศไทยมีสตาร์ทอัพชื่อ Ricult เป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินและใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการช่วยเหลือเกษตรไทย
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเจ้าของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือเกษตรกรรุ่นใหม่สามารถใช้ประโยชน์จาก FinTech ในการเข้าถึงแหล่งทุน หรือ AgriTech เพื่อลดต้นทุนในการจ้างแรงงาน ลดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลและความเสียหายแก่ผลผลิตได้ รวมทั้งปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการทำเกษตรกรรมได้อย่างเต็มรูปแบบ
สุดท้ายนี้ สำหรับผู้ลงทุน ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยงไม่ว่าจะลงทุนกับ SME Startup หรือบริษัทประเภทใด ผู้ลงทุนต้องมีความเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน
จึงขอให้ผู้ลงทุนตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ก่อนที่จะลงทุน เช่น ผู้ให้บริการระบบ Crowdfunding รูปแบบหลักทรัพย์ และผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) รวมทั้งศึกษาข้อมูลการระดมทุนเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th เสี่ยงสูง .com หรือแอปพลิเคชัน SEC Check First
บทความโดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทีมโฆษก และฝ่ายฟินเทค
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์