ถือว่าเซอร์ไพร์สกันทั้งโลกกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ FED ตัดสินใจ ลดดอกเบี้ย ในการประชุมเมื่อคืนวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาทันที 0.5% ผิดจากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าจะลดเพียง 0.25% ก่อน โดยเหตุผลคือเป็นการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการระบาดของ ไวรัสโควิด 19
การที่ FED ลดดอกเบี้ย ทันที 0.5% ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองในรอบ 12 ปี โดยครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นคือเดือนธันวาคม 2551 ในตอนนั้นทำเพื่อรับมือกับวิกฤตซับไพร์ม
แต่ผลตอบรับจากตลาดหุ้กลับไม่เป็นเชิงบวก โดยดัชนีดาวโจนส์จากที่อยู่ในแดนบวกกลับปิดตลาดลบลง 785.91 จุด และทองคำกลับมาพุ่งขึ้น 49.6 เหรียญต่อออนซ์ สะท้อนว่าตลาดการเงินมีความกังวลต่อการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้
เนื่องจากเวลานี้ ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯหลังจากนี้จะอยู่ที่ระดับ 1-1.25% และนักวิเคราะห์ยังคาดการณ์อีกว่า FED มีสิทธิที่จะ ลดดอกเบี้ย อีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินปกติในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้
ถ้าหากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่เป็นผล เท่ากับว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะ “หมดกระสุน” ที่จะใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนกับคนไข้ที่ใช้ยาแรงอัดฉีดเข้าไปแล้วยังไม่ฟื้น
มาลองวิเคราะห์สถานการณ์กันดูว่าตลาดการเงินโลกรวมถึงตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้เมื่อ FED เปิดฉากลดดอกเบี้ยขนานใหญ่
ธนาคารกลางทั่วโลกหนีไม่พ้นต้องลดดอกเบี้ยตาม
การที่ FED ลดดอกเบี้ย จะส่งผลต่อผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับตัวลงตามด้วย แม้ช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่าขึ้นจากการที่นักลงทุนทั่วโลกมองว่าเป็น Safe Haven แต่ถ้าหากธนาคารกลางชาติอื่นไม่ลดดอกเบี้ยตาม เม็ดเงินจะไหลเข้าไปยังประเทศทีให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงกว่าทันทีโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ค่าเงินที่แข็งค่าจะกดดันให้ภาคการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศเหล่านี้ยิ่งได้ผลกระทบตามไปด้วย จนนำไปสู่การตัดสินใจลดดอกเบี้ยตาม
อาจจะเกิดการอัดฉีดสภาพคล่องนอกตำราอย่าง QE อีกครั้ง
ช่วงวิกฤตซับไพร์ม เป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางใหญ่ของโลกอย่าง FED,ECB และ BOJ ใช้นโยบายเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินด้วยการพิมพ์เงินเปล่าเข้าไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า QE เพราะได้ใช้นโยบายการเงินปกติอย่างการลดดอกเบี้ยไปจนหมดแล้วก็ยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้
ผลกระทบจากการทำ QE ทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆโดยเฉพาะทองคำและตลาดหุ้น ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะมีสภาพคล่องส่วนเกินเข้ามาในระบบทำให้เกิดการเก็งกำไร และธนาคารกลางสหรัฐฯเพิ่งจะถอนสภาพคล่องส่วนเกินนั้นออกจากตลาดได้หมดเมื่อสองปีที่ผ่านมานี่เอง
ทองคำอาจกลับมาทำนิวไฮอีกครั้ง
ทองคำ เคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่หลังจากที่มีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปแล้ว โดยขึ้นไปเกือบแตะ 2000 เหรียญต่อออนซ์ ก่อนจะเป็นขาลงมายาวนานกว่า 7 ปีหลังสภาพคล่องส่วนเกินถูกถอนออกไป ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันมีความคล้ายกับสมัยวิกฤตซับไพร์มเป็นอย่างมาก และเริ่มมีการวิเคราะห์โดยนักลงทุนสถาบันระดับโลกอย่าง Ray Dalio ออกมาว่าทองคำมีโอกาสที่จะแตะระดับ 2000 เหรียญหรือมากกว่าได้แน่นอน
แล้ว Cryptocurrency ล่ะ??
ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ Cryptocurrency จะได้ผลกระทบเชิงบวกจากการที่แนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงรวมถึงสภาพคล่องส่วนเกินที่อาจจะมีเพิ่มเข้ามาเหมือนกับทองคำหรือไม่นั่น..มองว่าก็อาจเป็นไปได้ที่มีนักลงทุนสถาบันบางส่วนแบ่งเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเม็ดเงินจาก Traditional Asset เพียงเล็กน้อยเข้ามาก็ทำให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลพุ่งไปได้ไกลแล้ว
โดยเฉพาะ บิทคอยน์ ที่พยายามจะเทียบเคียงกับทองคำในฐานะ Store Of Value และ Safe Haven น่าจะได้รับอานิสงจากการที่โลกอาจเข้าสู่สถานะ “เงินท่วมโลก” เหมือนในช่วงปี 2010
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : Hash Rate ของ Bitcoin พุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดตลอดกาลอีกครั้งเตรียมรับ Halving