ก่อนหน้านี้เราได้พูดคุยกันไปถึงบิทคอยน์ที่เป็นราชาแห่งเงินคริปโตเคอเรนซี่กันไปแล้ว แต่อีกเงินดิจิทัลอีกสกุลหนึ่งที่หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างก็คงหนีไม่พ้นพระรองอย่าง Ethereum ด้วยมูลค่าตลาดที่มากเป็นอันดับสองของโลก รวมถึงคุณสมบัติและการใช้งานที่ค่อนข้างชัดเจนและหลากหลาย
จุดเริ่มต้นของ Ethereum
Ethereum นั้นถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2013 เมื่อนาย Vitalik Buterin โปรแกรมเมอร์หนุ่มชาวรัสเซียซึ่งขณะนั้นเขามีอายุไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำได้เขียน Whitepaper เพื่อสร้างแพลตฟอร์มประมวลผลที่มีความ decentralized หรือกระจายศูนย์ให้ผู้คนเข้ามาสร้างระบบและแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดย Ethereum Foundation ได้เริ่มเปิดระดมทุนเมื่อกลางปี 2014 โดยได้รับเงินลงทุนจากเหล่านักลงทุนและผู้สนับสนุนในรูปแบบของบิทคอยน์คิดเป็นมูลค่าขณะนั้นกว่า 18 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว จากนั้นระบบบล็อกเชนของ Ethereum ก็ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา
อะไรที่ทำให้ Ethereum พิเศษ?
หาก Bitcoin ถูกนำสร้างมาเพื่อแทนที่สกุลเงินแบบเก่า Ethereum ก็ถูกสร้างมาเพื่อแทนที่ระบบอินเตอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่อยู่ในรูปแบบกระจายศูนย์โดยตัดตัวกลางอย่างเช่น Google, Facebook และ Amazon ออก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากแฮกเกอร์ หรือการที่ผู้ให้บริการใช้อำนาจมาควบคุมและหาผลประโยชน์จากข้อมูลของเรานั่นเอง โดย Ethereum นั้นมีฟังก์ชันพิเศษเด่น ๆ ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายดังนี้
1. Smart Contract
Smart Contract หรือสัญญาอัจฉริยะ คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum โดยต่างจากระบบสัญญาแบบเก่าจากการที่มันสามารถทำงานได้โดยอัติโนมัติตามเงื่อนไขที่ผู้เขียนกำหนดไว้ จึงเหมาะกับการใช้แลกเปลี่ยนเอกสารกรรมสิทธิ์ เช่น ที่ดินหรือหุ้น โดยตัดหน่วยงานที่เป็นตัวกลางออกไป เพราะระบบจะทำงานในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือเพราะมันทำงานอยู่บนบล็อกเชน ที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไขหรือปลอมแปลงข้อมูลได้ง่าย ๆ และยังมีความทนทานไม่ต้องกังวลว่าหนังสือสัญญาจะหาย ถูกขโมย หรือไฟไหม้ เพราะรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์นั้นจะส่งสำเนาของเราไปเก็บไว้ในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกนั่นเอง
2. ใช้สร้างโทเคนของตัวเอง
หากการสร้างคริปโตเคอเรนซี่ของตัวเองดูจะยุ่งยากเกินไป Smart Contract นั้นก็ช่วยให้การสร้างเหรียญของตัวเองเป็นเรื่องง่าย ผ่านการออก ICO หรือการเสนอขายเหรียญในรูปแบบของ ERC20 Token ที่อาศัยบล็อกเชนของ Ethereum ในการทำงาน ช่วยให้โปรเจกต์เล็ก ๆ ไม่ต้องลงทุนพัฒนาบล็อกเชนของตัวเอง และสามารถสร้างระบบหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มของ Ethereum โดยจ่ายค่าเช่าหรือ Gas ให้แก่ระบบเป็นการตอบแทน
3. ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์หรือ DeFi
ปัจจุบันนี้กระแสการสร้างระบบการเงินแบบกระจายศูนย์หรือ Decentralized Finance ที่เรียกย่อ ๆ ว่า DeFi นั้นกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเป็นการสร้างระบบการเงินรูปแบบใหม่โดยอาศัย Smart Contract ที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างธนาคารในการฝากเงินเพื่อรับดอกเบี้ย หรือการกู้ยืมเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นหลักค้ำประกัน
4. Ethereum มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ Ethereum กำลังจะมีการ อัพเกรดตัวเองครั้งใหญ่ในชื่อ ETH2.0 โดยการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ คือจะทำการย้ายจากอัลกอริธึมยืนยันข้อมูลแบบ Proof-of-Work ที่ต้องใช้เครื่องขุดเหมือนกับบิทคอยน์ไปยังระบบ Proof-of-Stake ที่มีการทำงานที่รวดเร็วกว่าทั้งยังประหยัดพลังงานเพื่อรองรับระบบที่ใหญ่ขึ้นและอนาคตที่จะมีบริษัททั้งหลายมาใช้บริการแพลตฟอร์มของ Ethereum ในการสร้างโลกอินเตอร์เนตยุคใหม่ที่ไม่มีขาใหญ่คอยควบคุมและหาผลประโยชน์ทั้งยังมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชนอีกด้วย
หากอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการอัพเกรด Ethereum เพิ่มเติมแล้วล่ะก็ สามารถมาฟังความเห็นของนาย Vitalik Buterin ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในงาน Ethereal Summit ได้ที่นี่เลย: มุมมองของ Vitalik Buterin ต่ออนาคตของ Ethereum และ DeFi ท่ามกลางวิกฤตในปัจจุบัน
ถ้าชอบวีดีโอนี้ อย่าลืม Subscribe ให้กับช่องยูทูปของเราเพื่อติดตามวีดีโอใหม่ ๆ ได้ทุกสัปดาห์ได้ที่นี่