fbpx
Skip to content Skip to footer

Decentralized Finance เทคโนโลยีที่จะมาแทนที่ธนาคาร?

Decentralized Finance

ระบบการเงินของโลกอยู่ภายใต้การจัดการโดย “ตัวกลาง” อย่างสถาบันการเงินเช่นธนาคารมานับร้อยปี แต่หลังจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีบล็อกเชนและเงินดิจิตอล ทำให้แพลตฟอร์มการเงินถูกเปิดกว้างขึ้น สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางอีกต่อไป ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Decentralized Finance (Defi) ขึ้น

หากคอนเซ็บท์ของ DecentralizedFinance ได้รับการยอมรับในวงกว้างจริง อาจจะส่งผลสะเทือนไปยังผู้ให้บริการทางการการเงินดั้งเดิมแบบรวมศูนย์อย่างธนาคารได้เลยทีเดียวและระบบการเงินโลกอาจจะเปลี่ยนไปตลอดกาล!!

ความเชื่อมั่นคือการกระจายศูนย์ไม่ใช่รวมศูนย์

รูปแบบธุรกิจของระบบธนาคารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือการเป็นที่รับฝากเงินของประชาชนโดยอาศัยให้ความมั่นใจว่าจะป้องกันดูแลสินทรัพย์ของลูกค้าเป็นอย่างดีและนำเงินฝากนั้นไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้าต่อ หัวใจสำคัญของธนาคารจึงเป็นเรื่องของ “ความเชื่อมั่น”

แต่วิกฤตการเงินในช่วงที่ผ่านมาหลายๆครั้งตั้งแต่ต้มยำกุ้ง,ซับไพร์มไครซิส ฯลฯ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการรวมศูนย์ไปที่ธนาคารโดยการฝากเงินเอาไว้อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด เพราะธนาคารเองก็นำเงินของลูกค้าไปใช้อย่างผิดวินัยเช่นกัน

แม้แต่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลสถาบันและระบบการเงินก็ยังทำข้อผิดพลาดอยู่หลายครั้ง ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการรวมศูนย์ นำไปสู่การเกิดขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ในปี 2009 ที่ไม่ขึ้นตรงต่อธนาคารกลางใดๆ ระบบการเงินใดๆ แต่อยู่บนแพลตฟอร์มบล็อกเชนซึ่งทุกคนที่อยู่ในระบบสามารถตรวจสอบธุรกรรมกันเองและซื้อขายกันหรือส่งมอบได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใส

กล่าวได้ว่าแทนที่จะเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินว่าจะปลอดภัย แนวคิด Decentralized Finance คิดอีกแบบคือให้ผู้ใช้งานให้บริการและตรวจสอบกันเอง โดยมีกฎระเบียบที่ตั้งไว้ซึ่งเรียกว่า Trustless Protocol ซึ่งจะใช้หลักการ Predefined Rule หรือกฎของระบบที่แน่ชัดซึ่งจะอยู่ภายใต้สัญญาอัจฉะริยะหรือ Smart Contract 

พูดง่ายๆคือเชื่อในโค้ดมากกว่าการดูแลของมนุษย์นั้นเอง

ที่สำคัญคือจะต้องทำงานบน Public Blockchain ที่ไม่มีองค์กรใดๆมากำกับดูแล เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มสามารถตรวจสอบธุรกรรมต่างๆกันได้เอง โดยใช้สกุลเงินดิจิตอลอย่าง Ethereum ในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มนี้

บริการและโปรดักต์ที่เหมือนกับธนาคารแต่อยู่บนโลกดิจิทัล

DecentralizedFinance มีผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับการเงินในแบบ Traditional แต่จะทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมดและใช้สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) เป็นสื่อกลาง โปรดักต์ทางการเงินที่มีอยู่ในตอนนี้มีตั้งแต่

1.ระบบการชำระเงิน (Payment) ทำให้การโอนเงินระหว่างกันและข้ามประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น แทนที่จะต้องโอนเงินผ่านแพลตฟอร์มกลางที่มีชื่อว่า SWIFT อย่างในปัจจุบันซึ่งมีขั้นตอนหลายชั้นทำให้เกิดต้นทุนที่สูง การที่ธุรกรรมอยู่บนดิจิทัลทั้งหมดทำให้การแลกเปลี่ยนทำได้อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

2.ตลาดแลกเปลี่ยนเงินดิจิตอลและโทเคนดิจิตอล (DEX)ปัจจุบันศูนย์กลางซื้อขายเงินดิจิตอลหรือ Exchange เช่น Binance ซึ่งเป็นเวบระดับโลกหรือในประเทศไทยอย่าง Bitkub และ Satangpro ยังมีผู้ควบคุมดูแลระบบ แต่ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนา Exchange ที่ไม่มีการกำกับดูแลระบบหรือ Decentralized Exchange เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ทำให้มีต้นทุนการซื้อขายเงินดิจิตอลหรือโทเคนที่ถูกลงและปราศจากข้อครหาว่าควบคุมดูแลตลาด

3.โปรดักต์การเงินใหม่ๆอย่างเช่นตราสารอนุพันธ์ของเงินดิจิตอล (Futures,Options) ก็เกิดขึ้นภายใต้ DecentralizedFinance

4. Digital Lending หรือการกู้ยืมเงินดิจิตอล ถือเป็นโปรดักต์ที่จะเข้ามา Disrupt การกู้ยืมเงินปกติของธนาคารมากที่สุดเพราะจะปล่อยกู้โดยตรงระหว่างกันหรือ Peer to Peer  กล่าวคือหากเราถือครองเงินดิจิตอลอยู่กับตัวในระดับหนึ่ง เราจะสามารถปล่อยกู้ให้กับบุคคลอื่นได้ทันทีโดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันและพิจารณาเงินกู้ด้วยกันเอง

Digital Lending ยังมีคุณสมบัติเด่นดังนี้

4.1 สามารถกู้ยืมได้ทั่วโลก การอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลทำให้เส้นกันทางด้านพรมแดนที่อยู่ได้หายไป เราสามารถทำธุรกรรมกู้ยืมหรือปล่อยกู้ได้บนออนไลน์ทั้งหมด จากเดิมที่การกู้เงินจะจำกัดเฉพาะผู้ที่อาศัยในประเทศเดียวกันเท่านั้น เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสของเราให้กว้างขึ้น

4.2 ลดขั้นตอนการพิจารณาที่ยุ่งยาก การกู้เงินจากธนาคาร พนักงานจะต้องพิจารณาเอกสารหลายอย่างรวมถึงคุณสมบัติของผู้กู้ รวมถึงอาจต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่การกู้ยืมเงินดิจิตอลจะลดขั้นตอนตรงนี้ลงและยังช่วยให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงบัญชีธนาคาร (Unbank) สามารถกู้เงินได้อีกด้วย

4.3 ค่าธรรมเนียมที่ลดลง ปกติแล้วการทำธุรกรรมกู้เงินกับธนาคารจะต้องมีค่าธรรมเนียมเสมอซึ่งอาจจะแฝงไปอยู่กับดอกเบี้ย แต่การกู้เงินดิจิตอลจะเสียค่าธรรมเนียมที่น้อยกว่ามากเนื่องจากไม่มีต้นทุนในด้านพนักงาน

ธุรกรรมเกือบทั้งหมดของ Defi ถูกขับเคลื่อนโดย Ethereum ซึ่งเป็นเงินดิจิตอลที่ถูกพัฒนาให้ใช้งาน Smart Contract เป็นหลัก ส่วน Bitcoin ยังมีจำนวนไม่มาก อย่างไรก็ตาม Defi ยังถูกใช้งานจำกัดเฉพาะผู้เล่นในตลาดเงินดิจิตอลอยู่แล้วเท่านั้น ยังไม่กระจายไปสู่ผู้ใช้บริการทางการเงินทั่วไปที่ยังไม่เคยใช้งานเงินดิจิตอล 

แต่ด้วยคุณสมบัติที่ทำให้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง กระจายอำนาจให้ทุกคนบนแพลตฟอร์ม ไม่พึ่งพาตัวกลางมาควบคุมดูแล และโปร่งใส จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ Decentralized Finance เติบโตมากขึ้นในอนาคตพร้อมกับแนวโน้มของกระแสเงินดิจิตอล

ขณะที่มีรายงานจาก Binance Research ที่ได้ทำการติดตามการเคลื่อนไหวของ decentralized finance หรือ DeFi  ซึ่งจะเป็นการลบตัวกลางจากบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น การกู้ยืม, อนุพันธ์, การซื้อขายมาร์จิ้น และการประกัน พบว่า กำลังอยู่ระหว่างการเติบโต แต่ยังไม่ได้สร้างความสนใจในวงกว้าง

โดยทาง Binance เริ่มต้นด้วยเรื่องราวความสำเร็จ เช่น Compound บริษัทที่ให้กู้ยืมเงินด้วยเงินดิจิตอลซึ่งได้สร้างระบบการกระจายอำนาจให้ผู้คนสามารถรับดอกเบี้ยได้โดยการให้ผู้ใช้งานคนอื่นยืมสกุลเงินดิจิตอลได้ ซึ่งในปัจจุบัน Compound มีฐานผู้ใช้อยู่ 21,424 ราย และเมื่อต้นปี 2019 มูลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ของหลักประกันในระบบขยายจาก 13.4 ล้านดอลลาร์ เป็น 86.3 ล้านดอลลาร์ ในช่วงสิ้นปี ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 541%

ทางด้านนักวิจัยของ Binance Research คาดว่า ผู้เข้าร่วมในอุตสาหกรรมจะให้ความสนใจกับ DeFi มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามยังมีกรณีการใช้งานในวงจำกัดแค่ในชุมชนสกุลเงินดิจิตอล แต่ถ้าหากปัญหาในด้านเทคนิคและทางกฎหมายได้รับการแก้ไขแล้ว คาดว่าอุตสาหกรรม decentralized financial จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะดึงดูดผู้คนและเงินทุนได้มากกว่าอุตสาหกรรมเงินดิจิตอลที่มีอยู่เดิม

Binance ได้ชี้ไปที่ Ethereum ในฐานะราชาแห่ง DeFi แต่คาดว่าจะมีแพลตฟอร์มบล็อคเชนอื่นๆ ที่จะเติบโตขึ้นในปีหน้า ส่วนโซลูชัน decentralized financial จำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นรอบๆ บิทคอยน์ก็จะมีการเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งบิทคอยน์มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้เล่นสำคัญของ DeFi รวมถึง Ethereum ที่มีแอพพลิเคชั่น DeFi จำนวนมาก

นอกจากนี้ Binance ยังได้แยก EOS, Binance Chain, NEO, Cosmos, Tezos, Algorand, TomoChain, Tron, Waves และ Ontology ว่าเป็นแพลตฟอร์มบล็อคเชนที่มีศักยภาพที่สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเติบโตของ DeFi ได้ในระยะยาว

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : “บล็อกเชน” เข้ามาปฎิวัติอุตสาหกรรมการเงินและธนาคารอย่างไร

Leave a comment

เกี่ยวกับ SuperCryptoNews

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN