Decentralized Finance หรือ Defi คือระบบการเงินใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางในการจัดการ สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเงินในปัจจุบันที่ภาคธุรกิจหรือบุคคลทั่วไปที่กำลังขาดสภาพคล่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างดีจากการที่เข้ามาแก้ Painpoint ของระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้ดังนี้
ทำความรู้จัก DeFi ได้ที่บทความนี้ : Decentralized Finance เทคโนโลยีที่จะมาแทนที่ธนาคาร?
แบงก์ไม่กล้าปล่อยเงินกู้
ธนาคารมักเลือกที่จะปล่อยเงินกู้ในภาวะฉุกเฉินให้กับลูกค้าเก่ามากกว่าปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยมีประวัติการทำธุรกรรมมาก่อน รวมถึงมีกฎเกณฑ์การพิจารณามากมาย บางอาชีพหรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ธนาคารมักจะปฎิเสธการให้กู้เสมอ
แต่บน Defi การพิจารณาปล่อยกู้จะเป็นการตัดสินใจของคนสองคนคือผู้ขอกู้และผู้ให้กู้ในรูปแบบของ Peer To Peer จึงไม่มีตัวกลางอย่างธนาคารมาตัดสินใจแทนอีกต่อไป
อีกทั้งยังสามารถขอกู้ได้จากคนทั่วโลก เพราะ DeFi เป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนที่สามารถเข้าถึงคนได้ทั่วโลก ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในประเทศเท่านั้น
ผู้กู้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
สถาบันการเงินมักจะต้องให้ลูกค้านำหลักทรัพย์ที่มีมาค้ำประกันเงินกู้ เพื่อมั่นใจว่าหากผิดนัดชำระหนี้จะสามารถนำหลักทรัพย์นั้นๆมาขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้แทนได้
ขณะที่ภายใต้แพลตฟอร์ม DeFi ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องนำหลักทรัพย์อย่างรถ บ้าน อาคาร ฯลฯ มาใช้ค้ำประกัน เพียงแค่ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่มาค้ำประกันไว้บนแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ
ไม่มีบัญชีธนาคารก็กู้ไม่ได้
โลกนี้มีจำนวนประชากรกว่า 1,700 ล้านคนโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารได้ เนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่าน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้เช่นกัน
แต่ Defi เปิดกว้างให้กับทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคาร ขอเพียงเข้าถึงอินเทอร์เนตและบล็อกเชนก็สามารถเข้าถึงบริการได้ โดยไม่แบ่งแยกระดับรายได้ อาชีพและแหล่งที่อยู่
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้บุคคลสูงเกินไป
หากต้องการกู้เงินแบบสินเชื่อบุคคลหรือกู้โดยใช้บัตรเครดิต อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 20% ต่อปีขึ้นไปและหากไปกู้เงินนอกระบบ เราต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่านั้น
แต่ภายใต้ Decentralized Finance ผู้ขอกู้กับผู้ให้กู้สามารถเจรจาเรื่องของอัตราดอกเบี้ยกันได้ โดยเฉลี่ยแล้วดอกเบี้ยสำหรับผู้ขอกู้จะอยู่ที่ระดับ 5-8% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าการกู้สินเชื่อบุคคลเป็นอย่างมาก
รวมถึงการทำธุรกรรมยังเสียค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าการเข้ารับบริการทางการเงินจากธนาคาร เนื่องจากไม่มีต้นทุนด้านพนักงาน ทุกธุรกรรมจะใช้ Smart Contract ในการทำงานทั้งหมดโดยไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง
แพลตฟอร์ม Digital Lending ของ DeFi จึงเป็นทางเลือกใหม่ของบริการทางการเงินในภาวะที่ตลาดการเงินโลกรวมถึงบุคคลทั่วไปที่กำลังมีปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ผู้มีสภาพคล่องเหลือยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการปล่อยกู้ได้อีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : มูลค่าตลาด DeFi กลับมาร้อนแรง แตะระดับพันล้านเหรียญสหรัฐฯอีกครั้ง