Decentralize Exchange หรือ DEX เริ่มเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ปี 2018 แต่เพิ่งจะเป็นที่พูดถึงในวงการบล็อกเชนและคริปโตอย่างกว้างขวางในช่วงปี 2020 นี้ด้วยกระแสของการเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของ Decentralize Finance หรือ Defi ที่ร้อนแรงอยู่ในเวลานี้
Decentralize Exchange คืออะไรแล้วทำไมถึงถูกจับตาว่าจะมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต เรามาหาคำตอบกัน
ปัจจุบันนี้เวลาที่เราซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น BTC,Ethereum หรืออื่นๆส่วนใหญ่จะทำธุรกรรมบน Centralize Exchange หรือเวบเทรดที่มีผู้ควบคุมดูแล ตั้งแต่การโอนเงิน Fiat Currency แล้วเปลี่ยนเป็น Cryptocurrency หรือดูแลสภาพคล่องซื้อขายภายใน Exchange
โลกของคริปโต เรามักจะพูดถึงการเป็นอิสระในตัวเอง การกระจายศูนย์โดยไม่มีตัวกลาง การไม่มีผู้ควบคุมดูแล ทุกคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มดูแลตรวจสอบกันเอง ฯลฯ แต่กลับกลายเป็นว่า Exchange ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็ยังถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางซื้อขายอยู่ดี
นี่คือสาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้โลกของคริปโตมีความเป็น Decentralize อย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดการพัฒนา DEX ขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบไม่มีตัวกลาง หรือผู้ใช้งานเป็นผู้จัดการดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเอง
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือเวลาที่เราเปิดบัญชีซื้อขายกับ Centralize Exchange ผู้ดูแลจะทำการเก็บข้อมูลของเราไว้หลังจากที่ทำการ KYC รวมถึงเวลาที่เราโอนเงินเข้าไปทาง Exchange จะเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของเรา แต่เมื่ออยู่บน DEX เราจะต้องเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของเราด้วยตัวเอง เพราะทุกคนจะถือ Private Key เป็นของตัวเอง
เปรียบเสมือนกับการที่เราไม่ต้องเปิดบัญชีฝากเงินไว้กับธนาคารเพื่อให้มาดูแลเงินของเรา แต่เราสามารถนำกระเป๋าสตางค์ส่วนตัวมาเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มเพื่อใช้งานได้ทันที
ข้อดีของ DEX
นอกจากตอบโจทย์การเป็นตลาดที่ไร้คนกลางอย่างแท้จริงแล้ว ข้อดีของ DEX ก็คือเราสามารถที่จะคาดหวังค่าธรรมเนียมต่างๆที่ต่ำกว่า Exchange ที่มีผู้ดูแลเนื่องจาก DEX ได้ตัดต้นทุนส่วนนี้ออกไป
ที่สำคัญคือมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากไม่มีคนกลางมาดูแลจัดการทรัพย์สินของเรา ปัญหาการฉ้อโกงจึงไม่เกิดขึ้น รวมถึงการแฮ็คที่จะเกิดขึ้นได้ยากเพราะไม่มีศูนย์กลางให้บรรดาแฮ็คเกอร์เข้าไปเจาะระบบใน Wallet เพื่อดึงสินทรัพย์ดิจิทัลออกไปได้
รวมถึงการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่ทั่วโลกไม่จำกัดเฉพะในประเทศเท่านั้น ใครก็ได้ก็สามารถนำเหรียญหรือโทเคนขึ้นมาซื้อขายบนแพลตฟอร์ม (แต่จะได้รับความสนใจหรือไหมก็อีกเรื่อง)
ข้อเสียของ DEX
ปัญหาที่ผู้ใช้งาน DEX พบเจออยู่ในเวลานี้ก็คือสภาพคล่องการซื้อขายที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยังคงอยู่บน Centralize Exchange ที่มีเหรียญหรือโทเคนให้ซื้อขายที่หลากหลาย
รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆอย่างเช่นให้สิทธิลงทุนใน IEO ขณะที่ DEX หลายแห่งยังมีเหรียญหรือโทเคนให้เทรดอย่างจำกัด โดยส่วนใหญ่ยังซื้อขายได้เฉพาะโทเคนภายใต้ ERC-20
รวมถึงความเคยชินของผู้ใช้งานที่ยังต้องการผู้ดูแลอยู่รวมถึง Exchange หลายๆแห่งเริ่มที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการแล้ว (เช่นประเทศไทย) จึงทำให้ผู้ใช้งานยังคงไว้วางใจในการซื้อขายผ่าน Exchange ที่มีผู้ดูแล
อย่างไรก็ตาม Decentralize Exchange ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปได้อย่างแน่นอน แม้แต่ Binance ซึ่งเป็น Exchange อันดับต้นๆของโลกยังหันมาสร้าง DEX ของตัวเอง แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นในรูปแบบของการไร้ตัวกลางมากขึ้น รวมถึงเป็นไปตามกระแสของ Defi
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : Decentralize Finance สุดท้ายจะเป็นฟองสบู่เช่นเดียวกับ ICO หรือไม่??
ทั้งนี้ DEX ที่ได้รับความนิยมจากนักเทรดในเวลานี้คือ OMG,Kyber และ Uniswap ส่วนประเทศไทยมี KULAP ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อย