COMP หรือ Compound โทเคน สร้างกระแส Decentalize Finance หรือ Defi ให้กลายเป็น Buzz Word ด้วยราคาเหรียญที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงทันทีที่มีการปล่อยออกมาจาก Compound Protocol ให้ซื้อขายผ่านเวบ Exchange ชื่อดังอย่าง Coinbase
ราคาโทเคน COMP ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 386 ดอลลาร์ภายในเวลาเพียงแค่สามวันที่เปิดเทรด เป็นการปรับตัวขึ้นกว่า 170% อย่างไรก็ตาม ราคาได้ตกลงอย่างรวดเร็วและไม่มีแรงซื้อกลับขึ้นไปอีกเลย จนราคาลงมาใกล้เคียงกับวันที่เปิดเทรดวันแรก
มาร์เกตแคปของ COMP ณ วันที่เขียนอยู่ที่ 577 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 700 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงจาก Defi Pluse
หากใครที่เข้าไปซื้อที่ราคาสูงสุดเท่ากับว่าจะขาดทุนไปแล้วกว่า 56%
คำถามของนักเทรดคือเหรียญตัวนี้ยังมีอนาคตอีกหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแค่กระแสที่อิงตาม Defi ชั่วคราวแล้วหมดไป?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจคุณสมบัติของ Compound Protocol เสียก่อน แพลตฟอร์มดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มของ Decentralize Finance สาย Lending หรือปล่อยกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่ง Lending นี้เป็นสายที่มีมาร์เกตแคปและมูลค่าเหรียญที่ถูกล๊อกไว้ในระบบนิเวศน์ของ Defi มากที่สุดและเป็นสายที่ถูกจับตามากที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : Decentralized Finance เทคโนโลยีที่จะมาแทนที่ธนาคาร?
Compound ทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum โดยรองรับ Stablecoin ที่จะสามารถนำมาวางเป็นหลักประกันในการกู้หรือนำมาปล่อยกู้ได้แก่ ETH, USDC, Dai, Augur, USDT, WBTC, 0x และ BAT โดย Compound Protocol ทำหน้าที่เป็น Liquidity Pool หรือตัวกลางที่ทำหน้าที่จัดการสภาพคล่องระหว่างผู้กู้และผู้ปล่อยกู้
โทเคน COMP จะทำทำหน้าที่เป็น Governance Token สร้างโดยเทคโนโลยี ERC-20 ภายในแพลตฟอร์ม Compound Protocol กล่าวคือผู้ที่ถือโทเคนจะสามารถโหวตข้อเสนอต่างๆภายในแพลตฟอร์มได้ตามจำนวนโทเคนที่ถือ
นอกจากนี้ยังสามารถใช้เสนอ Proposal ภายในแพลตฟอร์มได้ หากมีโทเคนในมือตั้งแต่ 1% ขึ้นไปหรือต้องถือจำนวน 100,000 โทเคน โดยสามารถยื่นข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เพิ่มหรือเปลี่ยนเหรียญที่ใช้ค้ำประกัน หรือแม้แต่การเปลี่ยนแอดมินคนใหม่
ผู้ที่ยื่น Proposal ในการโหวตไปจะมีเวลาสามวันในการที่เปิดให้ผู้ใช้งานเข้ามาโหวตข้อเสนอ หากมีน้ำหนักไม่พอ ข้อเสนอดังกล่าวก็จะหายไป
เมื่อเข้าใจคุณสมบัติของโทเคนแล้ว น่าจะพอมองออกว่าการถือโทเคนไว้จำนวนมากทำให้ได้สิทธิในการโหวตเท่านั้น ยังไม่มีสิทธิพิเศษอื่นๆที่ให้กับผู้ถือโทเคน และไม่จำเป็นต้องใช้โทเคนดังกล่าวก็สามารถใช้งาน Compound Protocol ได้
จึงไม่น่าแปลกใจที่ COMP จะร่วงลงอย่างแรงหลังถูกเก็งกำไรขึ้นไปในสามวันแรก เพราะพื้นฐานของโทเคนดังกล่าวยังไม่แน่นพอที่จะผลักดันราคาให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน การปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงแรกน่าจะเป็นเพียงการเก็งกำไรที่ได้ลิสต์ใน Coinbase รวมถึงตามกระแสของ Defi มากกว่าวิ่งตามพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม การที่มีโทเคนมีจำนวนจำกัดที่ 10 ล้านโทเคนและมีเป้าหมายในการกระจายไปยังฝั่งผู้กู้และผู้ขอกู้ฝั่งละครึ่ง ต้องถือว่าตอบโจทย์ในฝั่งซัพพลายแล้ว ส่วนฝั่งดีมานด์ต้องติดตามต่อไปว่าโทเคนนี้จะมีคุณสมบัติพิเศษอื่นที่จะตามมาในอนาคตหรือไม่ เช่นการที่จะต้องถือโทเคนไว้บางส่วนจึงจะได้สิทธิในการกู้หรือให้กู้
ทั้งนี้ Lending และ Liquidity Pool ถือเป็น Defi สายที่มีแนวโน้มเติบโตสูงสุด หากโทเคนดังกล่าวมีสิทธิพิเศษต่างๆเพิ่มเติม เชื่อว่าจะมีความต้องการเข้ามาและผลักดันให้ราคาโทเคนไปได้ไกลมากกว่านี้ สำหรับแฟนคลับอาจต้องทนรออีกนิด
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : Decentralize Finance สุดท้ายจะเป็นฟองสบู่เช่นเดียวกับ ICO หรือไม่??