CBDC คือ Central Bank Digital Currency คือการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ปัจจุบันธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ CBDC คือ สกุลเงินปกติที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเงินบาท เงินดอลลาร์ เงินยูโร ฯลฯ เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของดิจิทัลและทำงานบนบล็อกเชนหรือเทคโนโลยี DLT และยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของธนาคารแต่ละประเทศ
CBDC จึงแตกต่างจากบิทคอยน์ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ทำงานแบบ Decentralize ไม่มีผู้กำกับดูแล รวมถึง Altcoin อื่นๆอย่าง Ethereum,XRP ซึ่งสร้างโดยภาคเอกชน แต่สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติสร้างขึ้นโดยภาครัฐ จึงมีคุณสมบัติและการทำงานที่แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง
แล้วทำไมถึงต้องมีสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ??
ทุกวันนี้การทำธุรกรรมการเงินระหว่างธนาคารหรือ Interbank จะมีต้นทุนจำนวนหนึ่งที่แต่ละธนาคารต้องแบกรับ ทำให้ในอดีตเวลาที่เราโอนเงินต่างธนาคารหรือข้ามเขตจะต้องเสียค่าธรรมเนียม
ต่อมาเมื่อธนาคารได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นบนมือถือขึ้นจึงได้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ใช้งานเพื่อดึงดูดให้ผู้คนหันมาทำธุรกรรมบนมือถือแทนที่จะต้องไปใช้งานที่สาขา แต่ในความเป็นจริงธนาคารต้องแบกรับต้นทุนนี้อยู่
ประกอบกับการที่ต้องผลิตเงินขึ้นมาอย่างเช่นธนบัตร เหรียญ ที่ต้องมีต้นทุนไม่ว่าจะค่ากระดาษ แร่เงิน การจัดพิมพ์รวมถึงการขนส่ง สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
การใช้เงินสดจึงมีต้นทุนมหาศาลที่อยู่เบื้องหลังแต่ไม่สามารถมาเรียกเก็บกับผู้ใช้งานได้ทำให้ธนาคารทั้งหลายต้องมาเก็บค่าธรรมเนียมกับดอกเบี้ยกับลูกค้าในผลิตภัณฑ์อื่นๆมาชดเชย
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารกลางต้องหันมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อที่จะลดการใช้เงินสดที่มีต้นทุนสูงลงและสอดรับกับกระแสของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่เติบโตขึ้น
นอกจากนี้การทำ Settlement หรือการเคลียร์ริ่งต่างๆจะทำได้เร็วขึ้นเพราะเมื่อทุกอย่างอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล การทำธุรกรรมต่างๆจะรวดเร็วขึ้น ต่อไปการทำธุรกรรมที่ต้องล่าช้าเพราะติดวันหยุดเสาร์อาทิตย์จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
ทั้งนี้ CBDC แบ่งเป็นสองประเภทคือ Wholesale หรือสกุลเงินที่ใช้เฉพาะธนาคารและสถาบันการเงินที่ต้องทำธุรกรรมกันเองหรือทำธุรกรรมกับธนาคารกลาง อีกแบบคือ Retail หรือผู้ใช้งานทั่วไปที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ทั่วโลกเร่งพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ
ปัจจุบันธนาคารกลางทั่วโลกกว่า 50 แห่งได้มีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติรวมถึงประเทศไทย ซึ่งได้มีการทดลองใช้งานกันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงในรูปแบบของ Wholsale เช่นธนาคารในยุโรปอย่างฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ที่ได้ทำการทดสอบเงินยูโรดิจิทัลไปแล้วขณะที่ในเอเชีย ฮ่องกงและสิงคโปร์ก็พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศเป็นหลัก
ส่วนประเทศจีนได้พัฒนาสกุลเงินหยวนดิจิทัลขึ้นซึ่งมีความแตกต่างคือจะนำมาใช้กับผู้ใช้งานทั่วไปทันที ขณะที่สวีเดนซึ่งเป็นประเทศที่รุดหน้าในด้านของสังคมไร้เงินสดได้เริ่มทดลองใช้สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว
CBDC คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโครงสร้างทางการเงินของโลกที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จบลง สังคมไร้เงินสดน่าจะเกิดเร็วขึ้นอย่างแน่นอน