fbpx
Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยหยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างไร?

หนึ่งในปัญหาที่ภาครัฐทั่วโลกต้องเจอก็คือ การแจกจ่ายทรัพยากรหรือ “งบ” ให้แก่หน่วยงานในภาคส่วนต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นไปได้ยากไม่ตรงจุด ระบบการเก็บข้อมูลที่ล้าหลังและตรวจสอบได้ยากมักจะนำมาซึ่งช่องโหว่เปิดให้มีการทุจริตเกิดขึ้น เทคโนโลยีบล็อกเชน อันมีจุดแข็งด้านความปลอดภัยสูง ธุรกรรมและข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่บนระบบสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ทั้งยังแก้ไขและบิดเบือนได้ยาก จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะก้าวขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ไม่มากก็น้อย

รายงานล่าสุดจากกระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กได้มุ่งเป้าไปในการศึกษาศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อการต่อสู้กับทุจริตคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ได้ชี้ว่า แม้บล็อกเชนนั้นจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในการบริหารของภาครัฐฯ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอีกมากที่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถก้าวผ่านมันไปได้

ปัญหาคอร์รัปชันนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก

ระบบราชการนั้นมักจะมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ใหญ่ และเทอะทะ ส่งผลให้การตรวจสอบนั้นมักจะไม่มีประสิทธิภาพ และการควบคุมให้เป็นไปตามครรลองนั้นยากยิ่งเสียกว่า ข้าราชการที่มีอำนาจในการตัดสินใจใช้งบประมาณมีแนวโน้มที่จะพ่ายแพ้ต่อความยั่วยวนของเงินตราเมื่อพวกเขาพบว่าโอกาสที่อาจถูกตรวจจับได้นั้นมันช่างน้อยเสียเหลือเกิน ยังไม่นับการฉ้อโกงกันเป็นระบบจากชั้นผู้ใหญ่สู่ผู้น้อย ซึ่งบางครั้งเป็นเหมือนภาคบังคับ ที่หากใครพยายามหลีกเลี่ยงไม่ร่วมขบวนการแล้วก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาทั้งในหน้าที่การงานและความปลอดภัยได้ เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ทำให้ข้าราชการน้ำดีจำเป็นต้องปิดตาข้างหนึ่งเพื่อรักษาเอาตัวรอดจากระบบดำมืดนี้ โดยจากการประมานการณ์พบว่า การทุจริตคอร์รัปชันนั้นกินส่วนแบ่งงบประมาณของภาครัฐทั่วโลกไปเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ทุก ๆ ปี หรือคิดเป็นถึง 2% ของ GDP โลก

บล็อกเชนช่วยต่อสู้กับการทุจริตได้อย่างไรบ้าง?

ความหวังในการหลุดรอดจากระบบอันเน่าเฟะนี้จึงถูกฝากไว้กับระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพอจะเข้ามาก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งระบบข้อมูลที่โปร่งใสอย่างบล็อกเชนนั้นจะช่วยให้ประชาชนทั่วไปหรือหน่วยงานตรวจสอบอิสระสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าดูและตรวจสอบงบประมาณ หาข้อผิดพลาดหรือเส้นทางการเงินไม่ปรกติ เป็นการตรวจสอบ Cross-Check ร่วมไปกับภาครัฐได้

การลดทอนโอกาสและช่องโหว่ในการทุจริตก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ การย้ายฐานระบบและการให้บริการของภาครัฐไปไว้ในรูปแบบออนไลน์ และเปิดให้มีการ Crowdsourcing เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาร้องเรียนได้อย่างเปิดเผย แน่นอน ข้อมูลทั้งหมดจะต้องถูกเก็บไว้บนระบบบล็อกเชนเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงหรือทำลายข้อมูลที่อาจเป็นหลักฐานในการเอาผิด

นอกจากนี้ การนำบล็อกเชนมาใช้กับการประมูลจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้นจะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น สามารถตรวจสอบประวัติของผู้ยื่นซองประมูลอีกทั้งการระบุเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ไว้ใน Smart Contracts โดยผู้ประมูลต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขเท่านั้นจะช่วยลดทอนการฮั้วประมูลและเอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้องได้เป็นอย่างดี

การนำไปใช้เพื่อเก็บข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ยังสามารถช่วยลดปัญหาการหลอกลวง การทำโฉนดสูญหาย การต่อเติมหรือสร้างสิ่งก่อสร้างที่ไม่ตรงตามข้อกำหนดของกฎหมาย และความไม่โปร่งใสของภาครัฐเองในการดำเนินงานอย่างเท่าเทียมอีกด้วย

นอกเหนือไปกว่าการป้องกันการทุจริต เทคโลยีบล็อกเชนยังสามารถเข้ามาช่วยสร้างความเท่าเทียมในสังคมได้อีกด้วย การเก็บข้อมูลสำมะโนประชากรไว้บนระบบดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ภาครัฐฯสามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินทุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย คนชรา หรือทุพลภาพ รวมไปถึงการนำคนชายขอบและผู้ลี้ภัยเข้าสู่ระบบอย่างเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในคุณภาพชีวิตได้อีกด้วย

เทคโนโลยีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

แม้สิ่งที่กล่าวมาจะฟังดูดี แต่เทคโนโลยีต่อต้านการคอร์รัปชันนั้นจะได้ผลดีแค่ไหนนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับสภาวะปัจจัยหลายประการ เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างกฎหมายที่เอื้ออำนวย รวมไปถึงสภาพสังคม การเมือง และการปกครองอีกด้วย

การนำฐานข้อมูลทั้งหมดของรัฐฯมาไว้บนบล็อกเชนที่มีความโปร่งใสอาจไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) อย่างในสหภาพยุโรปมีกฎหมายระบุถึง “สิทธิที่จะถูกลืม” หรือ “Right to be Forgetten” ซึ่งขัดกับหลักของบล็อกเชนที่ข้อมูลไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงหรือทำลายได้นั่นเอง

อีกข้อจำกัดหนึ่งของเทคโนโลยีบล็อกเชนก็คือ ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้มีความน่าเชื่อถือเท่ากับตอนที่ใส่ข้อมูลเข้าไปเท่านั้น กล่าวง่าย ๆ คือ แม้ข้อมูลบนบล็อกเชนจะมีความน่าเชื่อถือ 100% หากแต่การใส่ข้อมูลเข้าไปไม่ถูกต้องหรือผิดเพี้ยนตั้งแต่แรก ก็จะทำให้ข้อมูลนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือใด ๆ เลย นี่จึงยังทำให้ขั้นตอนที่ต้องพึ่งพาความซื่อสัตย์ของมนุษย์ยังคงมีความจำเป็นอยู่ จึงเป็นการเปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชันที่จุดอ่อนนี้ได้

อีกทั้งระบบบล็อกเชนที่ทางรัฐฯเลือกใช้ อาจไม่ใช่ระบบสาธารณะที่จะให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เนื่องจากยังมีหลายเรื่องที่ภาครัฐจำต้องเก็บไว้เป็นความลับไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงหรืออะไรก็ตาม

ทั้งนี้ แม้เราจะไม่สามารถทำให้การคอร์รัปชันสูญสิ้นไปอย่างหมดจดได้ในครั้งเดียว การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Internet of Things และ Big Data มาใช้ร่วมกันก็จะช่วยลดทอนการทุจริตและความผิดพลาดของมนุษย์ไปได้ไม่มากก็น้อย และจะทำให้ผู้ที่อยู่ในระบบต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อนจะทำการใด ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้นอย่างแน่นอน

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง: เมื่อทองคำยังถูกปลอมแล้วทำไม “บิทคอยน์” จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

Leave a comment

เกี่ยวกับ SuperCryptoNews

สื่อชั้นนำด้านบล็อกเชนและคริปโตในภูมิภาคเอเชีย นำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบด้านและเจาะลึก ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสิงคโปร์และประเทศไทย

สมัครรับข่าวสารจาก SCN