อินทนนท์ คือโปรเจกต์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีใหม่อย่าง Distributed Ledger Technology (DLT) หรือบล็อกเชนมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินไทยให้ทันสมัย จุดประสงค์หลักคือการ “ลดต้นทุน” ในการดำเนินการของสถาบันการเงินลง
แล้วโปรเจกต์นี้เกี่ยวข้องอะไรกับเราชีวิตคนไทยจะดีขึ้นได้อย่างไร?
ก่อนอื่นเรามาเข้าใจโครงสร้างของระบบสถาบันการเงินไทยเสียก่อน ทุกวันนี้เวลาที่เราจะโอนเงินระหว่างธนาคาร จะมีตัวกลางคือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เป็นคนจัดการยืนยันธุรกรรมให้ระหว่างสองธนาคาร โดยผ่านระบบที่เรียกว่า Bahtnet
วิธีการนี้แต่ละธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศไทยต้องนำเงินมาฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้การยืนยันธุรกรรมเร็วขึ้น ผู้รับจะได้ไม่ต้องเสียเวลานานเกินไปในการรับเงิน แต่นี่คือต้นทุนที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งต้องเสียไปกับการที่จะต้องนำเงินไปวางไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้เกิดการรับรองธุรกรรมต่างธนาคาร
โปรเจกต์ อินทนนท์ จึงเกิดขึ้นเพื่อทำให้แต่ละธนาคารสามารถรับรองธุรกรรมกันเองได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของแต่ละรายลงและยังทำให้การทำธุรกรรมต่างๆเร็วขึ้นและโปร่งใสตรวจสอบได้
กับคำถามว่าแล้วคนไทยได้ประโยชน์อะไรจากโปรเจกต์นี้เพราะดูจะเป็นเรื่องเฉพาะระหว่างแบงก์ด้วยกัน??
ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้การที่เราจะโอนเงินระหว่างธนาคารจะมีต้นทุนเกิดขึ้นทุกครั้ง แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมหรือเสียในอัตราที่ไม่มาก แต่ธนาคารจะต้องแบกรับต้นทุนพวกนี้ ซึ่งท้ายที่สุดธนาคารก็ต้องหาทางเก็บรายได้ทางอื่นจากลูกค้าอยู่ดี
ทุกวันนี้ประเทศไทยมีต้นทุนทางการเงินจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้น ซึ่งคนทั่วไปมักจะไม่รู้เพราะเวลาเราใช้จ่ายเงินก็ไม่ต้องมีค่าธรรมเนียม แต่เบื้องหลังทุกๆการทำธุรกรรมการเงินล้วนแล้วแต่มีต้นทุน
ตั้งแต่การพิมพ์ธนบัตร การผลิตเหรียญ ปีๆหนึ่งเราต้องใช้งบประมาณตรงนี้ไปกว่า “หมื่นล้านบาท” ตั้งแต่ค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ ฯลฯ และการที่เราสามารถกดเงินสดออกจากตู้เอทีเอ็มได้โดยสะดวก เบื้องหลังก็มีต้นทุนในการจัดส่ง การดูแลรักษา มากมาย
หรือการโอนเงินข้ามจังหวัด โอนเงินต่างธนาคาร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีต้นทุนหมด ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจอื่นๆ เพียงแค่เราไม่รู้เท่านั้น ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างบล็อกเชนจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนของสถาบันการเงินลง ท้ายที่สุดธนาคารก็ไม่จำเป็นต้องเก็บค่าใช้จ่ายจากลูกค้า
สรุปคือ เวลานี้คนไทยอาจยังไม่เห็นภาพว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากโปรเจกต์ อินทนนท์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเรื่องของระหว่างสถาบันการเงินกันเอง
แต่ระยะยาวเมื่อต้นทุนทางการเงินของระบบธนาคารในประเทศลดลงคนไทยก็จะได้รับประโยชน์ในที่สุด
ล่าสุดได้มีการยกระดับโปรเจกต์อินทนนท์ให้ภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมแล้วนั่นคือบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับธนาคารกลางของฮ่องกงในการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้บล็อกเชน
แสดงให้เห็นว่าคนไทยทั่วไป “เริ่ม” ที่จะใกล้ชิดเงินบาทดิจิทัลนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วในประเทศอื่นๆ ประชาชนของเขาได้ใช้เงินดิจิทัลที่ออกมาจากธนาคารกลางกันแล้วหรือยัง??
แม้ว่าตอนนี้หลายๆชาติที่พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางหรือที่เรียกว่า CBDC จะยังอยู่ในขั้นตอนของการใช้งานระหว่างสถาบันการเงินหรือ Wholesale แต่บางประเทศอย่างสวีเดนที่เป็นต้นตำหรับของสังคมไร้เงินสดได้เริ่มนำเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางให้กับประชาชนทั่วไปได้ใช้แล้ว
รวมถึงเงินหยวนดิจิทัลของรัฐบาลจีนก็มีความชัดเจนว่าจะถูกส่งให้กับคนจีนได้ใช้อย่างแน่นอน โดยยังอยู่ในช่วงของการทดลอง
โลกการเงินกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินได้รับการยกระดับให้เข้าสู่โลกดิจิทัล การพัฒนาจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคนไทยจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน