ใน 10 ปีที่ผ่านมา บิทคอยน์ได้กลายเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศและมีผู้คนมากมายซื้อขายกันในปริมาณหลายแสนล้านบาททั่วโลกต่อวัน และเทคโนโลยีสำคัญที่บิทคอยน์ใช้ในการสร้างความปลอดภัยนั้นมีชื่อว่าบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การประมวลผลเกิดได้ในแบบกระจายศูนย์ไร้คนกลาง
ทีมนักพัฒนาซอฟต์แวร์บิทคอยน์ได้ตัดสินใจว่าจะทำให้ระบบบิทคอยน์เรียบง่ายที่สุด และมีความเชื่อว่าบิทคอยน์ไม่ควรจะใส่คุณสมบัติใหม่ ๆ เข้าไปมากกว่าการเป็นหน่วยมูลค่าดิจิทัล เนื่องจากจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่มองไม่เห็นขึ้นในระบบ
จึงทำให้มีกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์อีกกลุ่มนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาต่อยอดนอกระบบนิเวศบิทคอยน์ โดยในปี 2014 ได้มีชายหนุ่มอัจฉริยะชื่อ วิทาลิค บูเทริน วัย 21 ปี สร้างบล็อกเชนที่มีชื่อว่าอีเธอเรียม (Ethereum) ขึ้น
จุดเด่นของอีเธอเรียมคือความสามารถในการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ที่ให้คนทั่วโลกช่วยกันประมวลผลแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกกันในวงการว่าสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) โดยโค้ดดังกล่าวจะไม่ถูกประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ของใครบางคนหรือโดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอน ไมโครซอฟต์ หรือกูเกิล กล่าวได้ว่าอีเธอเรียมคือคอมพิวเตอร์สาธารณะของโลกที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ในปี 2017 นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เห็นถึงโอกาสในการเขียนสัญญาอัจฉริยะสร้างโทเคนดิจิทัลเพื่อระดมทุนสร้างบริษัท และทำให้เกิดฟองสบู่ Initial Coin Offering (ICO) ขึ้น ซึ่งในปี 2017 ได้มีการระดมทุนผ่าน ICO ไปกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 1.2 แสนล้านบาท ปรากฏการณ์นี้เป็นที่ฮือฮามากในวงการนักลงทุน เพราะบริษัท Startup ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงิน Venture Capital (VC) เหมือนในอดีต
ในที่สุดฟองสบู่ ICO ก็แตกลงในปี 2018 และทำให้อุตสาหกรรมได้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวคริปโท (Crypto Winter) อย่างเต็มตัว ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหลายตัวร่วงหนักกว่า 90% และมีบริษัทลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลปิดตัวลงนับไม่ถ้วน ในขณะนั้น ยังมีทีมที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้ และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นโดยต่างจากปี 2017 ที่เน้นเรื่องการระดมทุนอย่างเดียว
ถือได้ว่าช่วงเวลาที่ทรหดที่สุดช่วงหนึ่งในวงการสินทรัพย์ดิจิทัล กลับกลายเป็นกลไลในการคัดกรองทีมที่มีคุณภาพและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ออุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2018-2019 เราเริ่มได้เห็นการเคลื่อนไหวของทีมที่สร้างสัญญาอัจฉริยะมาทดแทนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเรียกกันในวงการว่า Decentralized Finance (DeFi)
สัญญาอัจฉริยะ DeFi มีความแตกต่างที่สำคัญเมื่อเทียบกับระบบการเงินดั้งเดิม โดยแต่ละสัญญาจะถูกสร้างมาให้มีหน้าที่เฉพาะทาง เช่น สัญญาจำนำเหรียญ สัญญาสภาพคล่อง สัญญาอนุพันธ์ โทเคนที่มีมูลค่าคงที่ (stablecoin) ฯลฯ ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้งานต่อได้อย่างเสรี
ต่างจากบริษัทการเงินดั้งเดิมที่มีหน้าที่เป็นคนกลางทำทุกอย่างให้ลูกค้าอย่างบริษัท J.P. Morgan ที่เป็นทั้งธนาคาร ผู้บริหารกองทุน ที่ปรึกษาทางการเงิน นายหน้าซื้อขาย ผู้ค้าหลักทรัพย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่ที่น่าสนใจ คือสัญญาอัจฉริยะเป็นหน่วยประมวลผลที่สามารถนำมาประกอบกันได้แบบเลโก้ หรือที่เรียกว่า Composability ทุกสัญญาสามารถถูกนำมาใช้ใหม่ได้ในบริบทอื่น
จึงทำให้เกิด Network Effect หรือมูลค่าที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณตามจำนวนผู้ใช้งาน เช่น เมื่อมีคนใช้งานมากขึ้น ก็จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และดึงดูดผู้ใช้งานเข้ามาเพิ่ม เป็นวัฏจักรที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับระบบแบบอัตราเร่ง
โดยเราจะเห็นว่าต้นปี 2018 มีสินทรัพย์ดิจิทัลในระบบนิเวศ DeFi อยู่ 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในปี 2020 ได้มีการเติบโตอย่างมหาศาลและมีมูลค่าอยู่ที่ 2.44 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3,385% ภายในไม่ถึง 3 ปี
ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน DeFi เพิ่มขึ้นและมีการนำสัญญาอัจฉริยะต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ จนแตกแขนงออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มการกู้ยืม กลุ่มศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์แบบไร้คนกลาง กลุ่มอนุพันธ์ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มการบริหารสินทรัพย์ดิจิทัล และมีแนวโน้มว่าจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินบนโลกบล็อกเชนครบถ้วน ไม่ต่างจากระบบการเงินดั้งเดิม
และวันหนึ่ง คุณและนักลงทุนทั่วโลกอาจจะหันมาปล่อยกู้เงินดิจิทัลแทนที่จะไปฝากที่ธนาคาร หรือหันมาซื้อขายอนุพันธ์ทางการเงินโดยไม่ผ่านบริษัทหลักทรัพย์อย่างที่เคยทำมาในอดีตก็เป็นได้
บทความนี้เขียนโดย กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO บริษัท บิทาซซ่า จำกัด บทความนี้มีไว้ให้ข้อมูลเท่านั้น มุมมองและความคิดเห็นถือเป็นเนื้อหาที่มาจากปัจเจกบุคคล และไม่ถือเป็นการแสดงออกโดยบริษัท บิทาซซ่า จำกัดและพนักงานที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาที่นำเสนอไม่ถือเป็นคำแนะนำด้านการลงทุน