ความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่กำลังร้อนแรงอยู่ขณะนี้ ทั้งการสั่งแบนเทคโนโลยีของจีนจากสหรัฐ และการที่จีนชิงเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลก่อนสหรัฐฯ ที่บ่งบอกได้ชัดว่าเป้าหมายสูงสุดของจีนก็คือก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางการเงินของโลก ต้องการแทนที่เงินดอลลาร์ด้วยเงินหยวนดิจิทัล กำลังบอกอะไรเรา
วิสัยทัศน์ทางสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ของทั้งสองประเทศนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะที่สหรัฐฯต้องการปกป้องเงินดอลลาร์สหรัฐให้คงความเป็นสกุลเงินสำรองทั่วโลก และยังไม่มีความชัดเจนเรื่อง CBDC จีนต้องการส่งออกรูปแบบเศรษฐกิจของตนเองไปทั่วโลกและควบคุมระบบการเงินภายในบ้านให้เข้มงวดขึ้นผ่านทางเงินหยวนดิจิทัล
ในเดือนสิงหาคมจีนได้ประกาศทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลในศูนย์กลางเมือง 4 แห่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว และฮ่องกงซึ่งเป็นพื้นที่ทดสอบที่มีประชากร 400 ล้านคนหรือประมาณ 29% ของประชากรทั้งประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกันธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกาในบอสตันได้ประกาศว่าจะร่วมมือกับนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology ในความพยายาม เพื่อสร้างและทดสอบสกุลเงินดิจิทัลสมมุติที่มุ่งเน้นไปที่การใช้งานของธนาคารกลาง
เดอะ ไฟแนลเชี่ยลไทม์ให้ความเห็นว่า ความรวดเร็วในการพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลของจีนทำให้เกิดความกังวลถึงการท้าทายโดยตรงต่ออำนาจของดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินกลางของโลก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เครือข่ายบริการชำระเงินข้ามพรมแดนของคู่แข่งที่ดำเนินการโดยตะวันตกเช่น SWITF ซึ่งสหรัฐฯใช้เป็นเครื่องมือบังคับในมาตรการคว่ำบาตร
และนี่คือการแข่งขันทางไซเบอร์สเปซครั้งใหญ่ของโลกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Big Data และ IoTs ซึ่งมีบล็อกเชนเป็นกุญแจสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิด New Financial Order สร้างการควบคุมระบบและการกำกับดูแลที่จะมีอำนาจต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกใหม่
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า การเกิดขึ้นของหยวนดิจิทัลอาจจะยังไม่ส่งผลให้จีนเป็นผู้นำทางการเงินของโลกในเร็ววัน มาตรการ COVID 19 ทำให้เกิดความปกติใหม่ในหลาย ๆ เรื่อง เกิดการชะงักงันของโลกาภิวัฒน์ การพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ลดลง รวมไปถึงการค้าขายระหว่างประเทศ ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนเป็นการผลิตและซื้อสินค้าจากภายในประเทศหรือกลุ่มประเทศใกล้เคียง ทั้งจากประเด็นด้านการผลิตและการขนส่งให้ทันเวลา รวมไปถึงในพฤติกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ และจากมุมมองของการใช้พลังงานของโลกโดยเปล่าประโยชน์กับการบริโภคสินค้าข้ามทวีป ดังนั้นแทนที่จะเป็นสกุลเงินใหม่ของโลกวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้มากกว่าคือการเพิ่มขึ้นและการขยายตัวของสกุลเงินดิจิทัลท้องถิ่นในโลกที่กระจายอำนาจมากขึ้น
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาภาคเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว จีนทำได้ดีมากในการชำระเงินดิจิทัล ที่ทำให้ Apple pay Wechat และ Alipay จะต้องมีโทเค็นบนแพลตฟอร์มบริการรับชำระเงินด้วย รวมไปถึงการพัฒนา AI ด้านระบบการติดตามผู้คน โลจิสติกส์ หรือแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้บริโภคอย่าง TikTok แต่ในวงกว้างสหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเทคโนโลยีและสามารถพึ่งพาตัวเองได้อยู่ ซึ่งต่างกับจีนที่ยังคงต้องพึ่งพาบางเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เช่น กรณีของสมาร์ทโฟนหัวเว่ยกับระบบปฏิบัติการAndroid แต่จีนเองก็กำลังทุ่มเงินจำนวนมหาศาลให้กับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เช่นบล็อกเชนและ AI ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศจีนเพียงแห่งเดียวได้ยื่นจดสิทธิบัตรมากกว่า 80 รายการที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล ในด้านบริการเครือข่ายบล็อกเชน รัฐบาลจีนก็เพิ่งเปิดตัวเครือข่ายบริการบล็อกเชน สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ทั่วโลกที่จะช่วยให้โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบล็อกเชนสามารถสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ ในต้นทุนต่ำบนเครือข่ายนี้เพื่อเร่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง เช่นเงินหยวนดิจิทัลอาจยังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในระดับโลก เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการช่วงชิงการเป็นผู้นำโลกระหว่างสหรัฐฯ – จีน หากไม่มีองค์ประกอบอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่นการจับมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พันธมิตรด้านการเมืองและการทหาร อย่างไรก็ตามสกุลเงินดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่คาดว่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคตดังนั้นจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะท้ายที่สุดแล้ว AI บล็อกเชน และเทคโนโลยีสำคัญอื่น ๆ คือหัวใจสำคัญที่สุดที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้นประเทศก้าวหน้าใด ๆ ก็ตามโดยเฉพาะประเทศที่ต้องการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่นี้
บทความโดย ปรมินท์ อินโสม ซีอีโอ SatangPro
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง: บล.ทรีนีตี้แนะ จัดพอร์ตยุค New Normal ลงทุนบิทคอยน์เพื่อกระจายความเสี่ยง