Cryptocurrency หรือ เงินดิจิตอล เป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มาแรงในช่วงต้นปี 2020 และบิทคอยน์ ซึ่งเป็นเงินดิจิตอลสกุลแรกยังเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ถึงระดับ 10,000% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนบางส่วนให้ความสนใจที่จะลงทุนในเงินดิจิตอลมากขึ้น ซึ่งหากมองวิเคราะห์ลงไปดีๆจะพบว่ามีคุณสมบัติที่คล้ายกับ สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity ซึ่งเป็นโปรดักต์ที่ซื้อขายกันทั่วโลกมาเป็นระยะเวลากว่าร้อยปีแล้ว
เป็นสินค้าที่ซื้อขายราคาเดียวกันทั่วโลก
ทั้ง Cryptocurrency และ Commodity เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันทั่วโลกด้วยทิศทางราคาเดียวกัน แม้ในแต่ละประเทศจะมีตลาดซื้อขาย สินค้าโภคภัณฑ์
ของใครของมันแต่จะใช้ราคาเดียวกัน แตกต่างเพียงสกุลเงินที่ใช้ซื้อขาย ขณะที่ เงินดิจิตอล ซื้อขายบนแพลตฟอร์มบล็อกเชนซึ่งเชื่อมโยงกันทั่วโลกจึงมีราคาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน แต่มีเปอร์เซ็นต์แตกต่างกันตามแต่ละ Exchange ทำให้สามารถซื้อขายแบบ Arbitage ได้เหมือนกัน นอกจากนี้หากประเทศใดที่รับ Fiat Curreny ในการซื้อขายก็จะมีการใช้ราคาตามสกุลเงินท้องถิ่นเช่นกัน
การเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับ Demand และ Supply
เป็นคุณสมบัติที่เหมือนกันระหว่าง Cryptocurrency และ Commodity คือ
Demand และ Supply เป็นตัวกำหนดทิศทางราคา เช่นที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯและอิหร่านมีความขัดแย้งกัน เนื่องจากหากเกิดสงครามจะทำให้การผลิตและการขนส่งน้ำมันมีปัญหาในขณะที่ความต้องการยังอยู่ในระดับปกติ
ขณะที่บิทคอยน์และทองคำ มี Supply ที่จำกัดเหมือนกัน โดยบิทคอยน์มีจำนวนทั้งหมดเพียง 21ล้านหน่วย ส่วนทองคำบนโลกมีอยู่จำกัดและมีความยากลำบากในการขุดขึ้นมา ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้สองสินทรัพย์นี้มีคุณค่าในตัวเอง
หากฝั่ง Demand หรือ Supply เกิดความไม่สมดุลก็จะทำให้ราคาเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ นักลงทุนจึงต้องจับตาการเคลื่อนไหวนี้ให้ดี
มีผู้เล่นรายใหญ่เป็นผู้กำหนดทิศทางราคา
สินค้าโภคภัณฑ์ เกือบทุกชนิดจะมีผู้เล่นรายใหญ่ที่มีผลต่อการกำหนดราคาซื้อขายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นทองคำจะมีธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงกองทุน SPDR เป็นผู้เล่นสำคัญ ส่วนน้ำมันก็จะมีกลุ่มประเทศ OPEC ขณะที่ เงินดิจิตอล จะมีกลุ่มที่เรียกว่าปลาวาฬ (Whale) ที่ถือครองบิทคอยน์จำนวนมากเป็นผู้เล่นสำคัญหรือบางเหรียญก็จะมี Founders หรือผู้ที่สร้างเหรียญเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ซึ่งการซื้อขายแต่ละครั้งจะมีผลต่อราคาอย่างมีนัยยะสำคัญ
มีคุณสมบัติในตัวเอง
สินค้าโภคภัณฑ์ทุกประเภทล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติในตัวเอง เช่น ทองคำใช้แทนสกุลเงิน โลหะเงินใช้ผลิตสิ่งมีค่า น้ำมันใช้เป็นเชื้อเพลิง ฯลฯ ขณะที่เงินดิจิตอลแต่ละสกุลจะมีคุณสมบัติในตัวเอง เช่น บิทคอยน์มีความเป็น Store Of Value เช่นเดียวกับทองคำ, Ethereum ใช้ในการทำ Smart Contract และล่าสุดคือใช้ในการทำธุรกรรม Defi , XRP ใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศ ฯลฯ
คุณค่าของทั้ง Cryptocurrency และ Commodity จึงขึ้นอยู่กับคุณสมบัติในตัวเองว่ามีความต้องการในตลาดมากน้อยเพียงใด เช่น แนวโน้มการทำธุรกรรม Defi ที่สูงขึ้นทำให้ความต้องการ Ethereum มากขึ้นก็จะทำให้มีคุณค่าในตัวเองมากขึ้นและผลักดันราคาให้สูงขึ้นได้
ใช้กราฟในการวิเคราะห์และมีวัฐจักรของราคาเหมือนกัน
ทั้งสองผลิตภัณฑ์สามารถใช้กราฟเทคนิคในการซื้อขายได้เช่นกัน และมีพฤติกรรมของราคาที่คล้ายกันคือหากมีเหตุการณ์หรือข่าวสำคัญเข้ามา ราคาจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะกระชากขึ้นหรือกระชากลง นอกจากนี้ยังมีเทรนด์ที่ชัดเจนเหมือนกันสามารถทำกำไรได้อย่างดีหากลงทุนถูกทางไม่ว่าจะขาขึ้นหรือขาลงจะมีช่วงเวลาที่เกิด Big Cycle เหมือนกัน
มีตราสารอนุพันธ์ (Derivative) เหมือนกัน
สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นสินค้าการลงทุนที่มีการซื้อขายด้วยตราสารอนุพันธ์ (Derivative) มานานแล้ว โดยมีตลาด CME เป็นศูนย์กลางซื้อขายรายใหญ่ของโลก ขณะที่ Cryptocurrency ได้มีการพัฒนาสินค้าอนุพันธ์ตามมาภายหลัง โดยมีทั้งสินค้าประเภท Futures และ Options โดยผู้เล่นรายสำคัญก็คือ BAKKT ซึ่งเป็นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ครวมถึง CME ก็มีผลิตภัณฑ์นี้ให้นักลงทุนสถาบันเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้เล่นซื้อขายแค่สัญญาล่วงหน้าไม่ได้ส่งมอบ เงินดิจิตอล จริง
อ่านเพิ่มเติม : เครื่องมือการลงทุนในเงินดิจิตอล
ส่วนเวบเทรดหรือ Exchange ก็มีอนุพันธ์ให้ลูกค้ารายย่อยได้ซื้อขายทั้งบัญชี Margin,Futures,Perpetual Swap รวมถึง Options ซึ่งผู้เล่นจะได้รับเงินดิจิตอลในการเทรดจริงเพียงแค่ได้รับ Leverage ที่แตกต่างคือผู้เล่นสามารถปล่อยกู้ให้กับเวบเทรดได้ด้วย
ทั้งสองโปรดักต์ถือเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างดี หากลงทุนถูกเวลาในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น ขณะเดียวกันต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนในภาวะขาลง ยกเว้นแต่ใช้ตราสารอนุพันธ์เข้ามาช่วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำไมสินทรัพย์ดิจิทัลถึงเป็นทางเลือกการลงทุนในยุคดอกเบี้ยต่ำ