แม้ว่าจะทำการวางแผนการลงทุนมาเป็นอย่างดี แต่ในตลาดมีความไม่แน่นอนสูง โอกาสที่แผนที่วางไว้จะผิดพลาดมีขึ้นได้เสมอ นักลงทุนจึงต้องวางแผนที่จะตัดขาดทุน (Cut Loss) เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยจุดประสงค์หลักของการตัดขาดทุนคือ
ไม่ให้พอร์ตเสียหายลึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าราคาหลุดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่สำคัญ เช่นเส้น 200วัน หรือแนวรับสำคัญ ราคาอาจจะกลายเป็นแนวโน้มขาลงเป็นระยะเวลานาน
ไม่ให้เสียโอกาสในการลงทุนใหม่แม้ว่าหุ้นที่เข้าไปลงทุนเกิดความผิดพลาด แต่ในการลงทุนมีคำพูดว่า “ขอเพียงมีเงินสดโอกาสมีอยู่เสมอ” หากพลาดจากการลงทุนแล้วรีบตัดขาดทุนเพื่อไปซื้อหุ้นตัวใหม่อาจจะมีโอกาสที่จะสร้างผลกำไรมาชดเชยได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจมีแต่จะขาดทุนเพิ่ม
วิธีการเลือกจุดตัดขาดทุนมีอยู่ด้วยกันสามวิธี
ดูจากเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (EMA) จะเลือกใช้เส้นไหนเป็นจุดตัดขาดทุนขึ้นอยู่กับสไตล์การลงทุนว่าเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว สำหรับนักลงทุนระยะยาวมักจะใช้เส้นค่าเฉลี่ย 200 วันเป็นจุดตัดขาดทุนสำคัญ หรือสามารถดูสถิติย้อนหลังมาประกอบ เช่น ราคาสินทรัพย์ไม่เคยหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 30 วัน หากราคาหลุดก็อาจใช้เส้นดังกล่าวเป็นจุดตัดขาดทุนได้
ดูจากจุดต่ำสุด (Low) เดิม ตามทฤษฎีคลื่น (Elliot Wave) หากราคาลงมาไม่สร้างจุดต่ำสุดใหม่อีกครั้งแสดงว่าราคายังเป็นขาขึ้นต่อได้ แต่ถ้าหากราคาลงมาต่ำกว่าราคาต่ำสุดเดิมแสดงว่าทิศทางขาขึ้นเริ่มอ่อนแรงลงและอาจพลิกเป็นขาลง อาจจะต้องชิงตัดขาดทุนขายไปก่อน
ดูจากเลข Fibonacci ใช้เป็นจุดตัดสินใจหากราคาลงต่ำกว่าแนวรับสำคัญอาจต้องขายหุ้นออกมาก่อนที่จะลงไปยังเป้าหมายแนวรับสำคัญต่อไป
ทั้งนี้การตั้งจุด Cut Loss จะถูกเลื่อนขึ้นไปได้เรื่อยๆถ้าหากหุ้นที่เราซื้อไปถูกทางเป็นทิศทางขาขึ้น เราสามารถยกจุด Cut Loss ขึ้นตามแนวโน้มราคาไปได้ไม่จำเป็นต้องวัดจากจุดเริ่มต้น แนวทางดังกล่าว นักลงทุนประเภท Trend Follower ใช้เป็นจุดตัดสินใจในการถือหุ้นต่อไปเรื่อยๆตราบใดที่ทิศทางยังไม่เปลี่ยนจากขาขึ้นเป็นขาลงก็จะไม่ขายออกไป
การวางแผน Cut Loss จะต้องทำอย่างมีวินัยทุกครั้ง แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาวินัยไว้ได้และมักจะไม่กล้าตัดขาดทุนเมื่อเห็นราคาหุ้นลดลง และบางครั้งราคาปรับตัวลดลงเร็วจนไม่สามารถตัดขายได้ทัน วิธีการป้องกันคือให้ตั้งค่าแจ้งเตือนทุกครั้งเมื่อราคาลงมาจนถึงจุดตัดขาดทุนระบบจะทำการส่งข้อความมาถึงผู้ใช้งาน