หลังจาก Bitcoin Halving ครั้งที่สามผ่านพ้นไป เหล่านักขุดที่ไม่สามรถทำกำไรได้อีกต่อไปต่างทยอยถอดใจและถอดปลั๊กออกจากวงการไป ส่งผลให้กำลังการประมวลผล (Hashrate) ลดต่ำลงและจำนวนพลังงานที่ใช้เพื่อการดูแลระบบก็ลดลงไปด้วยถึง 24%
แม้เครื่องขุดรุ่นใหม่ ๆ จะมีประสิทธิภาพและประหยัดไฟมากขึ้น ทั้งค่าความยากในการแก้สมการเพื่อสร้างบล็อกใหม่ก็ลดลงไปถึง 6% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่กิจกรรมการขุดที่ใช้ Proof-of-Work ของบิทคอยน์นั้นก็ยังต้องการพลังงานมหาศาลอยู่ดี เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพแล้ว เว็บไซต์ Digiconomist นำข้อมูลต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกับประเทศบนโลกโดยพบว่า ขณะนี้ เหล่านักขุดใช้กำลังไฟโดยเฉลี่ยถึง 58.86 Twh ในหนึ่งปี ซึ่งเทียบได้กับประเทศอิสราเอลใช้ทั้งประเทศเลยทีเดียว (ประเทศไทยใช้ไฟประมาณ 164 Twh ต่อปี) ขณะเดียวกันก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มามากถึง 27.96 เมตริกตันในหนึ่งปีหรือเทียบเท่ากับประเทศซีเรีย (ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนปีละประมาณ 280 เมตริกตัน)
Image Courtesy: Digiconomist
โดยเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาหารเฉลี่ยกับจำนวนการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนระบบของบิทคอยน์ในหนึ่งปีแล้วจะพบว่า การส่งบิทคอยน์หนึ่งครั้งใช้พลังงานไฟฟ้า 550kWh หรือเทียบเท่ากับบ้านในสหรัฐฯหนึ่งหลังใช้ถึง 18 วันเลยทีเดียว นอกจากนี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากเครื่องขุดที่ล้าสมัยและใช้การไม่ได้แล้วมีจำนวนมากถึง 8.5 ตันต่อปี
นี่จึงก่อให้เกิดคำถามที่ตามมาในแง่ของความยั่งยืนว่าเพื่อแลกกับความปลอดภัยและการกระจายศูนย์แล้ว มันคุ้มหรือไม่ที่จะใช้ทรัพยากรและพลังงานสิ้นเปลืองถึงเพียงนี้ หรือเราควรจะปรับเปลี่ยนรูปแบบอัลกอริธึมใหม่ไปเป็นวิธีที่สะอาดกว่าเช่น Proof-of-Stake อย่างที่ Ethereum กำลังพยายามทำอยู่
อย่างไรก็ตาม จากรายงานล่าสุดของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พบว่า เหมืองบิทคอยน์เกินกว่าครึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวน หูหนานและซินเจียงของประเทศจีน ซึ่งทั้งสามมณฑลมีปริมาณพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์และน้ำเหลือเฟือเกือบตลอดทั้งปี ทำให้เป็นจุดยอดนิยมในการเข้าไปสร้างเหมืองขุดบิทคอยน์นั่นเอง
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง: ผลวิจัยมหาวิทยาลัย Cambridge เผยเหมืองบิทคอยน์จีนครองสัดส่วน 65% ของ Hash Rate ทั้งหมด