คำว่า “STOP LOSS” , “CUT LOSS” หรือที่เรียกว่า “ตัดขาดทุน” คงเป็นคำที่นักลงทุนสาย Technical คงคุ้นเคยกับเป็นอย่างดี แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเน้นเก็งกำไรหรือลงทุนระยะยาว การรู้จักตัดขาดทุนให้เป็นนั้นก็เป็นส่วนสำคัญของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จข้อหนึ่งเช่นกัน
นักลงทุนระดับโลกที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่”ตัดขาดทุน”เป็นทั้งสิ้น เรามาเรียนรู้แนวคิดและประสบการณ์ของเขาเหล่านี้และนำไปปรับใช้การเทรดคริปโตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกันดีกว่า
Warren Buffett
“อย่าขาดทุน” วลีเด็ดของนักลงทุนระดับโลกอย่าง Warren Buffett ซึ่งมักจะถูกตีความออกไปต่าง ๆ นา ๆ จนบางครั้งเป็นที่มาของความเข้าใจผิดในกลุ่มนักลงทุนระยะยาวบางท่านกลายเป็นมีความเชื่อว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” แม้ในบางครั้งราคาหุ้นอาจจะร่วงไปมากกว่า 50% แล้วก็ตาม
ในทางปฏิบัติ จริงอยู่ว่าราคาหุ้นนั้นมีความผันผวนที่สูงมาก แต่บางครั้งเราก็ต้องแยกให้ออกว่าราคาผันผวนจริง หรือผลประกอบการของบริษัทกำลังเป็นขาลง จนทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงหรือเปล่า
ดังนั้นคำว่า “อย่าขาดทุน” นั้นหมายถึงการรู้จักรักษาเงินต้น เป็นการลงทุนด้วยแนวคิดที่คำนึงถึงความปลอดภับมากกว่าความคาดหวังในการทำกำไร โดยแทนที่จะมองหาหุ้นที่มีโอกาสการทำกำไรหวือหวา ให้มองหาหุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่ง มีการเติบโตในระยะยาว และที่สำคัญสามารถอยู่รอดในยามที่ตลาดหุ้นผันผวนหรือแม้แต่เป็นขาลง
เพราะฉนั้นเมื่อเรารู้ตัวว่าหุ้นที่เราลงทุนนั้นไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด ต้องรู้จักที่จะตัดสินใจตัดขาดทุนก่อนที่จะบานปลายไปมากขึ้น
George Soros
แม้แต่ George Soros นักเก็งกำไรที่มีชื่อเสียงระดับโลกฉายา”พ่อมดการเงิน” โดยเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยจากเหตุการโจมตีค่าเงินบาทเมื่อสมัยปี 40 อันเป็นผลให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งของไทย เขาก็มีกฏเหล็กที่ทำให้ตัวเองสามารถประสบความสำเร็จมากกว่านักลงทุนท่านอื่น นั่นคือ “การรับรู้ถึงการขาดทุนได้เร็วกว่า และเดินหน้าลงทุนใหม่แทน”
บทเรียนเรื่องนี้มักจะเป็นอุปสรรคสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ในตลาดหุ้น ที่นำเงินก้อนแรกในชีวิตมาลงทุนในตลาดแล้วไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้ มักไม่ยอมรับการขาดทุนตั้งแต่แรก ๆ และปล่อยให้ขาดทุนหนักจนถึงจุดที่รับไม่ไหว จนต้องขายและออกจากตลาดหุ้นไป จนเป็นที่มาของคำที่นักลงทุนคุ้นหูกันว่า “วิถีของเม่า” และ “ติดดอย” นั้นเอง
ดังนั้นสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ในตลาดช่วง 1-3 ปีแรก ยังไม่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้กำไรเยอะ แต่เปลี่ยนแนวคิดเป็นทำอย่างไรก็ได้ให้รักษาเงินต้นไว้ได้มากกว่า โดยการรู้จักตัดขาดทุนให้ไวและไม่ยึดติดเสียใจกับการขาดทุน ลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อแล้วประสบการณ์ที่เราค่อย ๆ สั่งสมมาจะสอนเราเองจนสุดท้ายมันจะเริ่มผลิดอกออกผลเมื่อถึงเวลา
Anthony Bolton
ผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของประเทศอังกฤษนาย Anthony Bolton กล่าวว่า งานของนักบริหารการเงินมืออาชีพ ไม่ใช่แค่มองหาหุ้นดี ๆ แต่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงหายนะที่กำลังจะเกิดให้ทันเวลาอีกด้วย
ถึงแม้จะเป็นการลงทุนในกองทุนมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ บางกองทุนลงทุนในหุ้นทั่วโลกหลักร้อยหรือหลักพันตัว ก็ไม่เคยที่จะปล่อยให้หุ้นที่มีแนวโน้มไปในทิศทางที่เป็นลบหรือขาดทุนมากเกินไปอยู่ในพอร์ตการลงทุน และพร้อมที่จะตัดขาดทุนหรือขายออกไปทุกเมื่อ เมื่อทิศทางไม่ได้ไปตามที่วิเคราะห์ไว้เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่จะตามมาได้ทันท่วงที
สรุปจากบทเรียนถึงความสำคัญของการตัดขาดทุน
จุดเชื่อมโยงสำคัญของนักลงทุนระดับโลก ไม่ว่าจะลงทุนระยะยาว นักเก็งกำไร หรือผู้จัดการกองทุน ล้วนคำนึงถึงการตัดขาดทุนเพื่อรักษาเงินทุนเริ่มต้นส่วนใหญ่ไว้ รวมถึงรู้จักค่าเสียโอกาส หรือ Opportunity Cost หากลงทุนในหุ้นผิดตัวและไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองก็จะทำให้สูญเสียโอกาสไปลงทุนในหุ้นที่ดีกว่า
Initial loss | Gain needed to recovery |
5% | 5.3% |
10% | 11.1% |
20% | 25.0% |
30% | 42.9% |
40% | 66.7% |
50% | 100% |
60% | 150% |
70% | 233.3% |
80% | 400% |
90% | 900% |
95% | 1900% |
จากตารางจะเห็นได้ว่าการขาดทุนยิ่งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้กำไรที่เราจะต้องทำให้ได้เพื่อคืนเงินต้นยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น และความผิดพลาดหลักของนักลงทุนรายย่อยเมื่อขาดทุนในระดับ 5% – 10% แล้วไม่ยอมตัดขาดทุน ทั้ง ๆ ที่บางครั้งก็รู้ว่าราคาและปัจจัยพื้นฐานของหุ้นมีแนวโน้มเปลี่ยนไปแล้ว แต่กลับยอมถือจนขาดทุนไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีอาจจะไปตัดขาดทุนเมื่อขาดทุนไปแล้ว 50% ซึ่งนั้นหมายความว่าการลงทุนครั้งต่อไปต้องได้กำไร 100% เพื่อคืนทุน ย้ำว่าได้แค่คืนทุน !! แต่กลับกันหากรู้จักการตัดขาดทุนตั้งแต่เมื่อเริ่มติดลบ 5% – 10% โอกาสการทำให้กลับมาคืนทุนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไปนัก
หลักการดังกล่าวจากสามนักลงทุนระดับโลกนี้ แม้จะมีพื้นฐานการลงทุนในหุ้นที่ต่างกัน แต่วิธีคิดในการตัดขาดทุนเพื่อไม่ให้พอร์ตเสียหายและไม่ติดดอยนาน ๆ นั้นสามารถนำมาใช้ได้กับการลงทุนทุกรูปแบบ
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : เทรด Altcoins กำไรดีกว่า Bitcoin จริงหรือ?