Image Source: Thairath.co.th
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศโครงการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอินทนนท์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการเชื่อมต่อ CBDC กับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยภาคเอกชน
ธปท. เห็นความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและความพร้อมของภาคธุรกิจที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งโครงการนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำ CBDC ไปเชื่อมสู่ภาคธุรกิจที่มีขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่กว้างขึ้น ในการทดสอบ CBDC จะถูกเชื่อมต่อกับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่าง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กับคู่ค้า (Suppliers) ในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวร่วมทดสอบ
โดย ธปท. คาดหวังว่าระบบต้นแบบการชำระเงินนี้ จะรองรับนวัตกรรมทางการเงินของภาคธุรกิจที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงิน เช่น มีความยืดหยุ่นในการโอนเงินมากขึ้น เพิ่มความเร็วและความคล่องตัวในการชำระเงินระหว่างกัน การทดสอบดังกล่าวจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ซึ่ง ธปท. จะเผยแพร่ผลการทดสอบและแนวทางการดำเนินงานต่อไป
นอกจากนี้ โครงการอินทนนท์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และสถาบันการเงิน 8 แห่ง ที่ร่วมกันศึกษาและทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลในการชำระเงินระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDC) ได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงแล้ว รวมทั้งได้ทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) เสร็จสิ้นในเดือนมกราคม 2563 ปัจจุบัน ธปท. และ HKMA ร่วมกับสถาบันการเงินสมาชิก อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขยายขอบเขตการทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้ CBDC ซึ่งจะมีการประกาศในรายละเอียดต่อไป
ธปท. เชื่อมั่นว่ากระบวนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินร่วมกับภาคธุรกิจ เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเตรียมเข้าสู่โลกดิจิทัลทางการเงินในอนาคต โดย ธปท. ยังคงเปิดกว้างสำหรับภาคธุรกิจที่สนใจร่วมพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
ด้านนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า การร่วมมือกับธปท. และบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และริเริ่มการพัฒนาระบบโครงสร้างการชำระเงินของภาคเอกชนโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ผ่านมา เอสซีจีได้ร่วมมือกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินชั้นนำ ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงินแบบครบวงจร หรือ ที่เรียกว่า “B2P” (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) ซึ่งสามารถช่วยลดระยะเวลาการดำเนินงานต่อรายการได้ 50% และลดต้นทุนต่อรายการได้ 70% ทำให้ปัจจุบัน มีคู่ธุรกิจที่เข้าใช้งานบนแพลตฟอร์มนี้แล้ว กว่า 4,500 ราย ภายในระยะเวลา 2 ปี
ดังนั้น การลงนามความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินของภาคเอกชน โดยใช้ CBDC ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้องค์กรและคู่ธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอสซีจี ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุค New Normal ด้วยการเร่งพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Digital Transformation โดยเปิดโอกาสให้องค์กรชั้นนำ พาร์ทเนอร์ที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญทั่วโลก มาร่วมเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ร่วมกัน
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงการคลังประเทศไทยเปิดตัว “วอลเล็ต สบม.” ขายพันธบัตรรัฐบาลผ่านบล็อกเชน เริ่มต้นเพียง 100 บาท