หากเราต้องการซื้อขายหุ้น เราจำเป็นต้องเปิดพอร์ตลงทุนกับโบรกเกอร์หรือบริษัทหลักทรัพย์ แต่หากเราต้องการซื้อขาย Crypto Currency เราจะต้องเปิดบัญชีกับตลาดแลกเปลี่ยนหรือที่เรียกกันว่า Exchange
สำหรับประเทศไทย ได้มีกฎหมายที่ออกมากำกับดูแลธุรกิจศูนย์กลางซื้อขายและนายหน้าซื้อขาย Crypto Currency โดยสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการเปิดบัญชีกับ Exchange ที่ได้รับใบอนุญาตสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ใ้ห้บริการได้ที่เวบไซท์ของกลต. ส่วน Exchange ที่อยู่ในต่างประเทศผู้ลงทุนต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่าจดทะเบียนอยู่ที่ประเทศใดและมีความน่าเชื่อถือเพียงใด เพราะในหลายประเทศยังไม่มีกฎหมายรองรับธุรกิจนี้โดยตรง
สินค้าที่ซื้อขายอยู่ใน Exchange ก็คือ Crypto Currency สกุลต่างๆ ตั้งแต่สกุลดังๆอย่าง Bitcoin ,Etherium,Ripple ฯลฯ ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการจับคู่ระหว่าง Fiat Currency เช่น เงินบาทคู่กับ Bitcoin และระหว่าง Crypto Currency ด้วยกันเช่น Bitcoin/ETH รวมถึงเป็นแหล่งซื้อขาย Token ที่เกิดจากการทำ ICO
ทั้งนี้ Exchange มีอยู่ด้วยกันสองแบบคือ แบบผ่านคนกลาง (Centralized Exchange) และแบบที่ไม่ผ่านคนกลาง (Decentralized Exchange)
เริ่มที่รูปแบบผ่านคนกลางก่อน กล่าวคือเป็น Exchange ที่มีผู้ดูแลจัดการทรัพย์สินของเรา เช่นเดียวกับโบรกเกอร์หุ้นที่จะต้องมีผู้ดูแลการเปิดบัญชี การโอนเงิน การซื้อขาย รวมถึงผู้ดูแลระบบ โดยผู้ดูแลจะต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูลของลูกค้าทุกคนผ่านการทำ KYC (Know Your Customer) เช่น ถ่ายรูปตัวเองพร้อมบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตเพื่อยืนยันตัวตน
Exchange ไม่ต่างอะไรกับตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นตัวกลางซื้อขายสินค้า ผู้ประกอบการแต่ละรายจึงต้องสร้างจุดขายของตัวเองเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ตัวอย่างเช่น
รับเป็นตลาดแรกสำหรับการระดมทุนใน ICO ด้วย หาก Exchange ใดที่สามารถนำเหรียญดังๆมาลิสต์ได้ก็จะสามารถดึงลูกค้ามาใช้บริการได้
มีสภาพคล่องซื้อขายที่สูง ใครที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นจะทราบดีว่าสภาพคล่องหรือปริมาณการซื้อขายในตลาดถือเป็นจุดขายสำคัญ เพราะตลาดที่มีผู้เล่นน้อยรายอาจทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถซื้อหรือขายได้อย่างสะดวก
รวดเร็วในการโอนเงินถอนเงิน เป็นจุดหนึ่งที่ดึงดูดลูกค้าได้ หากการทำธุรกรรมการเงินมีความสะดวก มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จะเป็นจุดขายหนึ่งที่ดึงลูกค้าเข้ามาได้
กิจกรรมพิเศษ ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจ Exchange เริ่มมีความรุนแรงขึ้นจากการการที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น ทำให้แต่ละรายต้องงัดกิจกรรมพิเศษเพื่อดึงลูกค้า เช่น ส่วนลดค่าธรรมเนียมการเทรด ของรางวัลให้กับผู้ที่มีวอลลุ่มเทรดสูงๆ หรือส่วนแบ่งรายได้หากมีการแนะนำลูกค้าใหม่ เป็นต้น
ออกเหรียญของตัวเอง สำหรับ Exchange รายใหญ่หรือรายที่เริ่มมีชื่อเสียงแล้วก็จะทำการออกเหรียญเป็นของตัวเองคล้ายกับการระดมทุน ICO โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้ที่ถือเหรียญ เช่น ส่วนลดค่าธรรมเนียม โดย Exchange เองก็นำเงินที่ได้มาไปพัฒนาบริการต่อ
มีความปลอดภัยสูง อาจจะเป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดก็เป็นได้เพราะปัญหาที่ถ่วงทำให้วงการ Crypto Currency ยังไม่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกก็คือปัญหาการถูกแฮ็คนี่เอง ก่อนจะเลือก Exchange เราควรที่จะเช็คประวัติให้ดีเสียก่อนว่าเคยถูกแฮ็คหรือไม่ บางเจ้าหากถูกแฮ็คอาจมีการชดเชยความเสียหายให้ลูกค้า
ทั้งนี้ ไม่มี Exchange ใดปลอดภัยจากการถูกแฮ็ค 100% แต่สามารถป้องกันความเสียหายจากการถูกโจรกรรมข้อมูลได้หากมีมาตราฐานการปฎิบัติงานที่มีคุณภาพ เช่น มีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ Decentralized Exchange (DEX) หรือ ตลาดแลกเปลี่ยนเเบบไม่ผ่านคนกลาง แม้จะมีผู้ที่พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายแต่จะไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรม โดยลูกค้าสามารถทำธุรกรรมกันเองแบบบุคคลต่อบุคคล (P2P) โดยใช้ Smart Contract
ข้อดีของ Exchange ประเภทนี้คือผู้ใช้งานถือเงินไว้กับ Wallet ของตัวเองไม่ได้เก็บไว้กับ Exchange และ Host ของ Decentralized Exchange จะถูกกระจายผ่านหลายๆ nodes ทำให้เราไม่ต้องกังวลว่า sever จะล่ม และผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยประวัติของตัวเอง ยกเว้นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคธนาคาร