ปีนี้ถือเป็นปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับวงการคริปโตและ เงินดิจิทัล เริ่มตั้งแต่การเกิด Bitcoin Halving อีกครั้งในรอบสี่ปี การเกิดขึ้นของสกุลเงินหยวนดิจิทัลหรือ DC/EP รวมถึงสกุลเงิน Libra ของ Facebook ที่ถอยกลับไปตั้งหลักใหม่และมีกำหนดการจะเปิดตัวให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
การแบทเทิลระหว่างสามสกุลเงินดิจิทัลใหญ่นี้ ท้ายที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้ชนะกันแน่?
บิทคอยน์ตัวแทนของเสรีชน
เริ่มที่ผู้มาก่อนอย่างบิทคอยน์ ปีนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าเหมาะสมกับการเป็นสกุลเงินใหม่ของโลกจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างอัดฉีดสภาพคล่องด้วยการทำคิวอีเพื่อรับแรงกระแทกจากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 การพิมพ์เงินออกมาจำนวนมหาศาลอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลก
วิกฤติซับไพร์มที่เคยเกิดขึ้นในปี 2009 ได้เกิดการทำคิวอีในรอบแรกและผลักดันให้ราคาทองคำและสินทรัพย์อื่นๆปรับตัวเป็นขาขึ้นยาวนาน มาถึงวิกฤติปี 2020 สถานการณ์คล้ายกับวิกฤติรอบที่แล้วแต่มีความรุนแรงกว่า
บิทคอยน์ จะได้รับการยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าในตัวเองหรือ Store Of Value อย่างแท้จริงหรือไม่ นี่คือโอกาสสำคัญที่จะพิสูจน์ตัวเองแล้ว หลังจากที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้เป็นเวลาเกินสิบปี
ล่าสุดได้เพิ่งผ่านการ Halving ครั้งที่สามทำให้บิทคอยน์เข้าสู่ยุคที่สี่อย่างสมบูรณ์ด้วยจำนวน Block ที่ลดลง ทำให้ Supply ที่ได้จากบิทคอยน์เริ่มหายากขึ้น เพิ่มคุณค่าในแง่ Scarcity เหลือเพียงปัจจัยทางฝั่ง Demand เข้ามาสนับสนุนด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้น บิทคอยน์ก็พร้อมที่จะเป็นสกุลเงินทางเลือกให้กับคนทั่วโลกได้
ตัวอย่างในประเทศที่ประสบกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) อย่างเวเนซูเอล่าและอิหร่าน ได้ผลักดันให้บิทคอยน์เป็นที่ต้องการและราคาซื้อขายสูงกว่าราคาในตลาดโลกได้บ่งบอกแล้วว่าสกุลเงินดิจิทัลนี้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนที่เดือดร้อนจากค่าเงิที่แทบไม่มีค่าได้
การที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของใคร ทำให้บิทคอยน์คือตัวแทนของเสรีชนอย่างแท้จริง หากการเงินระบบปิด (ระบบดั้งเดิม) มีปัญหา ระบบเปิด (บล็อกเชน) ก็พร้อมจะเข้ามาแก้ Pain Point นั้นทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : 4 เหตุผลที่ควรลงทุนในบิทคอยน์ตอนนี้ทันที!!
Libra ตัวแทนของโลกประชาธิปไตย
หลังจากที่ Facebook ได้เปิดตัวสกุลเงิน Libra ในปีที่แล้วออกไป ได้ถูกแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินทั่วโลกโดยเฉพาะสภาครองเกรสของสหรัฐฯที่ตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสของสกุลเงินดังกล่าว จนทำให้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ต้องยอมถอยหลังหนึ่งก้าว
จนกระทั่งได้เปิดตัว Libra 2.0 ซึ่งปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่โดยจะมีอยู่ด้วยกันสองสกุลคือแบบแรก Single Currency Coin จากเดิมที่มี Libra สกุลเดียวและใช้ระบบตะกร้าเงิน
โดยจะเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางทั่วโลกสามารถสร้าง Stablecoins ของตัวเองบน Libra Network ระยะแรกจะเริ่มต้นด้วยสกุลเงิน USD,EURO,GBP และ SGD โดยจะมีสกุลเงิน Fiat รองรับแบบ 1:1
แบบที่สองคือ Global Libra ใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศโดยอัตราแลกเปลี่ยนจะใช้การคำนวนค่าเฉลี่ยของทุกสกุลที่เป็น Stblecoins ภายใต้ Libra Network โดยจะเริ่มต้นจากสี่สกุลในแบบแรกก่อน
คุณสมบัติของ Global Libra จะช่วยให้ผู้ใช้งาน Facebook รวมถึงเครือข่ายอย่าง Whatapps และ Instragam ที่มีรวมกันกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลกใช้โอนซื้อของระหว่างกันได้ไม่ต่างจากการส่งแมสเสจ ช่วยให้การชำระเงินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต้นทุนต่ำ
ตัวอย่างง่ายๆคือถ้าเราเปิดร้านขายของผ่านเพจของ Facebook อยู่แล้วก็จะสามารถขายของให้กับผู้ซื้อได้ทั่วโลกเพียงแค่ปลายนิ้วเท่านั้น โดย Facebook กำลังยื่นขอไลเซ่นส์ทางการเงินกับหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสวิสเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา
ทำให้ Libra ไม่ใช่หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรอีกต่อไปแต่เป็นสถาบันทางการเงิน
ทั้งนี้รูปแบบที่สองจะมีหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายทางการเงินของแต่ละประเทศรวมถึงมีการตรวจสอบป้องกันการฟอกเงินและสอดส่องการทำธุรกรรม และผู้ที่จะใช้งานต้องมีการขอใบอนุญาตก่อน
โดยสกุลเงิน Global Libra จะมีผู้เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกันสี่กลุ่มคือธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการใช้สกุลเงินดังกล่าวต้องนำเงินสดสภพาคล่องใส่สำรองไว้ที่ Libra Network กลุ่มที่สองคือ Crypto Exchange ที่มีไลเซ่นส์ทางการเงินที่ต้องการใช้สกุลเงินดังกล่าวต้องมาขออนุญาต กลุ่มที่สามคือ Crypto Exchange กลุ่มที่ไม่ได้มีไลเซ่นส์ทางการเงิน
กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงินอย่างเช่น Super App ต่างๆหากต้องการเชื่อมต่อกับ Libra Network ก็ต้องมาขออนุญาตแต่จะถูกจำกัดการใช้งานต่อวัน
ข้อได้เปรียบของ Libra คือการมีฐานผู้ใช้ในเครือข่ายของ Facebook อยู่ในมือกว่า 3000 ล้านคนที่พร้อมจะทดลองใช้ทันที และ Facebook เองน่าจะเปิดตัวโปรดักต์และบริการใหม่ๆออกมารองรับสกุลเงิน Libra แน่นอน
หากพิสูจน์ได้ว่า Libra มีความเร็วในการโอน ค่าธรรมเนียมต่ำหรือไม่มีเลยและมีความโปร่งใส สกุลเงินดังกล่าวน่าจะเข้ามาแบ่งตลาดของการชำระเงินรูปแบบเก่าไปได้บางส่วน
แม้จะถูกมองว่าสุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรกับบริการชำระเงินออนไลน์ที่มีอยู่แล้วในทุกวันนี้ แต่ด้วย Ecosystem ของ Facebook ที่ใหญ่และหลากหลาย Libra จะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้อาณาจักร Facebook มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและ Libra จะเป็นมากกว่าบริการทางการเงินได้
บทสรุปคือ Libra มีความเป็นประชาธิปไตยในตัวเองคือมีเสรีภาพในการใช้งานภายใต้การควบคุมดูแล อาจจะไม่มีความเป็นอิสระในตัวเองเท่ากับบิทคอยน์ แต่ผู้ใช้งานสามารถไว้วางใจได้จากการมีผู้กำกับดูแลและพร้อมที่จะใช้งานได้ทั่วโลก
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิกฤตโควิด-19 กับการแจ้งเกิดของเงินดิจิตอลและบล็อกเชน
หยวนดิจิทัลตัวแทนของคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะโค่นดอลลาร์
หลังจากซุ่มพัฒนามายาวนาน ในที่สุดประเทศจีนก็เตรียมที่จะปล่อยสกุลเงินหยวนดิจิทัลออกมาสู่ตลาดการเงินแล้ว ภายใต้ชื่อโปรเจคต์ DCEP โดยยังอยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารกลางจีนทั้งหมด กล่าวคือหยวนดิจิทัลจะเทียบเท่าเงินหยวนปกติแบบ 1:1 มูลค่าไม่มีทางเปลี่ยนแปลง
สาเหตุที่จีนต้องการผลักดัน เงินดิจิทัล ของตัวเองขึ้นก็เพื่อลดต้นทุนทางการเงินในระบบเก่าลง รวมถึงคาดหวังว่าเงินดิจิทัลจะทำให้เกิดการหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเพื่อให้เกิดการบริโภคจับจ่ายให้จีดีพีเติบโต
รวมถึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาบล็อกเชนแห่งชาติที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
คุณสมบัติพิเศษของหยวนดิจิทัลคือยังสามารถใช้งานได้แม้ว่าจะไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เนตอยู่ก็ตามและมี Layer หลายชั้นเพื่อป้องกันการปลอมแปลง
คอนเซบต์ของหยวนดิจิทัลยังอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์คือรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมทุกอย่าง ยิ่งทำงานภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัล รัฐบาลจีนสามารถตรวจสอบและติดตามการทำธุรกรรมการเงินของคนจีนได้ง่ายยิ่งขึ้นประกอบกับเทคโนโลยีเอไอและบิ๊กดาต้าที่จีนใช้กับการดูแลประชากรนับพันล้านคน
จีนถือเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้เงินสดลดลงอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ระบบชำระเงินออนไลน์มาหลายปีติดต่อกัน นำโดยสองผู้ให้บริการหลักอย่าง Alipay และ WechatPay ที่มีผู้ใช้รวมกันนับพันล้านคนทั้งในจีนและทั่วโลก
หากหยวนดิจิทัลถูกปล่อยออกมา คนจีนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินที่มีอยู่นับร้อยล้านคนโดยเฉพาะในชนบท แต่พวกเขาเหล่านี้เข้าถึงอินเทอร์เนตก็จะมีโอกาสได้เข้าถึงบริการทางการเงิน เงินหยวนก็จะยิ่งทรงอำนาจมากยิ่งขึ้น
ระยะต่อไป จีนอาจจะขยายการใช้งานของหยวนดิจิทัลให้ออกไปทั่วโลกผ่านนโยบายทางการค้าและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการ One Belt One Road หรือเส้นทางสายไหมในยุคดิจิทัล
ประกอบกับเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอจากวิกฤติโควิด-19 นี่อาจเป็นจุดกำเนิดให้หยวนดิจิทัลเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก เหมือนกับที่เงินดอลลาร์เคยเข้ามาแทนที่เงินปอนด์ของอังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
รอบนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ทรุดหนักและการพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง อาจทำให้เงินดอลลาร์ต้องพ่ายแพ้ให้กับเงินหยวนดิจิทัลก็เป็นได้ แม้สัดส่วนของเงินหยวนในตลาดการเงินโลกจะยังเล็กน้อยมาก
แต่ด้วยคุณสมบัติของเงินดิจิทัลที่ทำธุรกรรมได้คล่องตัวรวดเร็ว อาจหมุนรอบการไหลของเงินได้เร็วและกระจายในวงกว้างได้มากขึ้น อาจจะสั่นคลอนบัลลังก์ของดอลลาร์ได้เร็วขึ้นเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ได้เวลา “หยวนดิจิทัล” ผงาดท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด
บทสรุปคือ ทั้งสามสกุล เงินดิจิทัล ต่างเล่นอยู่บนเวทีของตัวเอง บิทคอยน์ คือตัวแทนของระบบการเงินแบบเปิด คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้และเป็นทางเลือกหากระบบการเงินดั้งเดิมมีปัญหา
ส่วน Libra มีโอกาสที่จะเป็นสกุลเงินที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ผ่านแพลตฟอร์มของ Facebook ภายใต้การควบคุมดูแลของระบบการเงินเก่าอีกที ขณะที่หยวนดิจิทัลในช่วงแรกอาจถูกจำกัดเฉพาะชาวจีนได้ใช้งาน แต่ระยะต่อไปหากจีนกระจายสกุลเงินหยวนดิจิทัลให้คนทั่วโลกมีโอกาสใช้ผ่านกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจก็มีโอกาสที่หยวนดิจิทัลจะเป็นสกุลเงินหลักของโลกได้เช่นกัน
ขณะนี้คู่ชกทั้งสามกำลังจะขึ้นเวทีแล้ว ผู้ชนะหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับว่าคนทั้งโลกเชื่อมั่นในระบบการเงินแบบไหน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ชนะแน่นอนคือผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารได้กว่า 1,700 ล้านคนทั่วโลกรวมถึงในประเทศจีน คนเหล่านี้จะมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยเงินดิจิทัล