ระบบการเงินโลกแบบดั้งเดิมกำลังถูกท้าทายจากผู้เล่น “หน้าใหม่” ที่ไม่ได้อยู่ในสนามการเงินมาก่อนอย่างเช่น Facebook ที่สร้าง Libra ขึ้นมาให้ผู้ใช้งาน 2,200 ล้านคนหรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก พร้อมใช้ทันที ผู้เล่นเดิมอย่างธนาคารกลางต้องเดินแผนแก้เกมส์ก่อนถูก Disrupt ด้วยการสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองหรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินใหม่โดยใช้ Blockchain
ประเทศจีน ถือเป็นชาติที่จริงจังกับการสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองมากที่สุด เห็นได้จากการที่ออกกฎคุมเข้มการซื้อขาย Bitcoin หรือการทำ ICO ตลอดสามปีที่ผ่านมาก็เพื่อ “คุมกำเนิด” เงินดิจิทัลต่างชาติไม่ให้ได้เกิดบนแผ่นดินมังกร
ตามนโยบาย “จีนใช้ จีนเจริญ” เพราะด้วยจำนวนประชากรกว่าพันล้านคนทำให้จีนไม่จำเป็นต้องง้อต่างชาติใดๆ แค่สร้างให้คนในประเทศใช้ก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการเงินของโลกได้ทันที หากเกิด “หยวน ดิจิทัล” ขึ้นจริง
ล่าสุด ผู้บริหารของธนาคารประชาชนจีนหรือ PBOC ได้ออกมากล่าวว่า เงินสกุลดิจิทัลของจีนจะถูกกระจายต่อไปยังธนาคารขนาดใหญ่อย่าง China Construction Bank, ธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชนา หรือ ICBC , ธนาคารแห่งประเทศจีนหรือ Bank Of China , ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน และ Union Pay ตลอดจนบริษัทเทคโนโลยีอย่างอาลีบาบาและเทนเซน
รวมถึงกล่าวด้วยว่าฟีเจอร์การใช้งานของเงินดิจิทัลนี้จะคล้ายกับ Libra ของ Facebook หรือคุณสมบัติที่ใช้แทนเงินในการจับจ่ายสินค้าต่างๆ เบื้องต้นจะทดลองใช้เงินที่นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นเมืองด้านเทคโนโลยี
ผลันใดที่จีนเปิดตัวเงินดิจิทัลของตัวเองออกมา ย่อมสะเทือนต่อระบบการเงินโลกอย่างแน่นอนและอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักของโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว
Petro เงินดิจิทัลแห่งชาติรายแรกของโลก
อย่างไรก็ตาม จีนไม่ใช่ประเทศแรกที่สร้างเงินดิจิทัลของตัวเองเพราะ “เวเนซูเอล่า” ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่สร้างสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติของตัวเองขึ้นมา โดยไม่มีการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีเงินดอลลาร์หนุนหลังเป็นสินทรัพย์รองรับเลย แต่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาหนุนหลังแทน โดยใช้ชื่อว่า Petro
สาเหตุที่ต้องสร้างเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมาเพราะเวเนซูเอล่าประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างหนัก การเสนอขายเงินสกุล Petro จึงเป็นหนึ่งในทางออกที่จะนำมาใช้หนี้ของประเทศและหนีออกจากระบบการเงินดั้งเดิมที่ผูกอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ
เงินสกุลดิจิทัลดังกล่าวได้ถูกเสนอขายไปมูลค่า 735 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และถือเป็นการระดมทุนรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลใหญ่อันดับสามของโลก
อีกชาติที่จริงจังกับการสร้างเงินดิจิทัลของตัวเองนั่นคือ “เอสโตเนีย” ประเทศทางตอนเหนือของยุโรปที่ตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยี ที่มีความพยายามสร้างเงินดิจิทัลแห่งชาติของตัวเองในชื่อ Estcoin เพื่อแจกให้กับผู้อพยพจำนวน 20,000 คนในประเทศ แต่แนวคิดดังกล่าวก็ถูกคัดค้านอย่างหนักโดยธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB เนื่องจากข้อบังคับที่ว่าชาติในยูโรโซนจะต้องใช้เงินสกุลยูโรเพียงสกุลเดียวเท่านั้น
ธนาคารกลางแห่ลงทุน Blockchain
นอกเหนือจากสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง ธนาคารกลางหลายแห่งของโลกเลือกที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้พัฒนาระบบการเงินของตัวเองแทนที่จะสร้างสกุลเงินใหม่ เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่า Blockchain สามารถลดต้นทุนทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ธนาคารกลางสวีเดน
รวมถึงธนาคารกลางอินเดียที่กำลังศึกษาการสร้าง “รูปีดิจิทัล” รวมถึงประเทศอื่นๆอย่าง อุรุกวัย บาฮามาสและประเทศแถบแคริเบี้ยนที่กำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้น
ระบบการเงินแบบดั้งเดิมกำลังถูกท้าทายอย่างมากจากเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา หากธนาคารกลางเหล่านี้ไม่เห็นโอกาสที่จะถูก Disrupt ในอนาคตคงไม่คิดที่จะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมา แต่ต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้วจะได้รับแรงต่อต้านจนสามารถเปิดตัวใช้จริงหรือไม่
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนมองเงินสกุลดิจิทัลจีนคล้าย Libra ของ Facebook