เงินดิจิทัล มักถูกมองว่าเป็นเพียงสินค้าเก็งกำไรหรือใช้ในการโอนเงินหากัน แต่ในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เงินดิจิทัลมีส่วนในการเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางการเงินมีตั้งแต่การลดดอกเบี้ย ธนาคารกลางเข้าไปอุดหนุนตลาดการเงินไปจนถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ รวมไปถึงการทำให้เกิดการหมุนของเงิน (Money Velocity) ให้เร็วที่สุด
อธิบายง่าย ๆ ก็คือหากเงินที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจถูกเปลี่ยนมือได้รวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้นเท่าไร จะเกิดการใช้จ่ายหรือการบริโภคที่สูงขึ้นเท่านั้น อันจะส่งผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนั่นเอง
พูดให้ง่ายเข้าไปอีกคือหากทำให้การชำระเงินเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว สะดวก และมีต้นทุนต่ำ จะเกิดการกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
หากวิเคราะห์พัฒนาการของระบบการเงินของโลกในอดีตจะพบว่าวิวัฒนาการของการโอนเงินและการชำระเงินได้ถูกสร้างขึ้นให้มี “ความเร็ว” ในการใช้เงินมากขึ้นนั่นเอง
เศรษฐกิจโลกรวมถึงการค้าขายระหว่างประเทศที่ขยายตัวขึ้นก็ได้รับอานิสงส์จากการเทคโนโลยีการชำระเงินที่รวดเร็วขึ้น จากในอดีตเราต้องหอบเงินสดไปใช้เพื่อซื้อของเท่านั้น (หากย้อนไปไกลกว่านั้นก็คือหอบสินค้าไปแลกกันหรือต้องขนทองคำเป็นก้อน ๆ ไปมา) โลกการเงินได้พัฒนาให้เกิดการโอนเงินทางอีเล็กทรอนิกส์ จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันในการโอนเงินผ่านอุปกรณ์พกพาอย่างโทรศัพท์มือถือขึ้น และทุกธนาคารต่างเร่งที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ผู้ใช้งานสามารถชำระเงินได้สะดวกรวดเร็วและต้นทุนต่ำ
ลองย้อนกลับมาถามตัวเองดูว่าเวลาที่ซื้อสินค้าทางออนไลน์จะมีความรู้สึกว่ามีความต้องการซื้อหรือความกล้าที่จะใช้เงินมากกว่าการถือเงินสดไปซื้อของในตลาดหรือไม่ หากใช่ นั่นเป็นเพราะ “ความสะดวก” ในการใช้เงินนั่นเอง เพียงไม่กี่คลิกก็สามารถจ่ายเงินได้แล้ว
ในช่วงที่เกาหลีใต้เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในปี 2541 (ติดเชื้อต้มยำกุ้งจากประเทศไทย) รัฐบาลได้ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินด้วยการเปิดให้ประชาชนสามารถชำระเงินด้วยบัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นมูลค่าเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะต้องการให้ผู้คนออกมาใช้เงิน (ใครที่เคยไปเกาหลีใต้จะรู้ว่าแม้ซื้อของหลักสิบบาทก็ใช้บัตรเครดิตได้)
ลองย้อนกลับไปสมัยที่เกิดเหตุการณ์ Great Depression ในปี 1929 การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องใช้เวลานานหลายปี เป็นเพราะในยุคนั้นเทคโนโลยีการโอนเงินยังต้องใช้เงินสดเท่านั้น
แต่วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นช่วงหลัง ๆ นี้ต่างสามารถแก้ไขปัญหาได้ในเวลารวดเร็วก็เพราะเทคโนโลยีการเงินที่พัฒนาขึ้น จนเกิดการหมุนรอบของเงินที่เร็วขึ้น หรือพูดง่าย ๆ คือส่งเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบได้เร็วขึ้นนั่นเอง
เงินดิจิทัล ถือเป็นพัฒนาการครั้งใหม่ของโลกการเงินในยุคนี้และภายในสองสามปีข้างหน้าที่จะมีส่วนในการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนหรือ DLT ที่อยู่เบื้องหลังสกุลเงินดิจิทัล (ไม่ว่าจะระบบเปิดแบบบิทคอยน์หรือระบบปิดแบบเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง) ทำให้การโอนเงินและชำระเงินมีความรวดเร็ว สะดวก และมีค่าธรรมเนียมต่ำลง
ตัวอย่างเช่น Ripple ที่ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศที่สามารถส่งเงินหากันข้ามทวีปได้ในเวลาไม่กี่วินาที หรือสกุลเงิน Libra ของ Facebook ที่ทำให้เราสามารถโอนเงินหากันได้ง่ายเหมือนการส่งสติกเกอร์ในไลน์
เงินดิจิทัล จึงมีโอกาสที่จะเข้ามามีบทบาทต่อภาคเศรษฐกิจจริงหลังจากนี้ หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด New Normal ทางการเงินคือการเร่งให้เกิดสังคมไร้เงินสดเร็วขึ้น ประกอบกับการมาของเงินหยวนดิจิทัลและ Libra จะช่วยให้เกิด Mass Adoption ในการใช้เงินดิจิทัลให้เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
ลองนึกดูว่าหากการแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท เป็นการโอนผ่านเงินดิจิทัลจะทำให้การส่งผ่านเงินเข้าสู่ระบบทำได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ด้วยบล็อกเชนว่าใครได้รับแล้ว ถูกนำออกไปใช้หรือยัง เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ รวมถึงหยวนดิจิทัล Libra และเงินดิจิทัลของธนาคารกลางหรือ CBDC ต่างมีส่วนร่วมที่จะทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุนในระบบที่รวดเร็วและต้นทุนต่ำลง กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายและการทำธุรกิจบนออนไลน์ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ได้รวดเร็วมากขึ้น
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : บิทคอยน์-ลิบรา-หยวนดิจิทัล ใครจะได้ปกครองระบบการเงินโลกใหม่