ตราสารอนุพันธ์ สามารถสร้างผลตอบแทนได้มหาศาล แต่ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้เราเป็นหนี้หรือถึงกับหมดเนื้อหมดตัวได้เลยทีเดียว
ไม่กี่วันที่ผ่านมาได้เกิดเรื่องเศร้าขึ้นในวงการนักเทรดโดยนาย Alexnder Kearns วัย 20 ปี ได้ทำการฆ่าตัวตายเนื่องจากคิดว่าตนเองติดหนี้กว่า 700,000 ดอลลาร์จากการเทรดออปชั่นผ่านแพลตฟอร์มของ Robinhood แอปเทรดชื่อดัง
เรื่องเศร้านี้จะไม่เกิดขึ้นหากนักเทรดมีความเข้าใจในสินค้าตราสารอนุพันธ์อย่างถูกต้อง วันนี้เรามาทำความรู้จักคำว่า Derivative กัน
นอกจากตลาด Spot หรือการส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกัน ในโลกการลงทุนยังมีตราสารอนุพันธ์ (Derivative) เช่นเดียวกับสินทรัพย์การลงทุนแบบ Traditional แม้จะเป็นโปรดักต์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแต่กำลังเป็นที่นิยมของนักเทรดทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เรามาทำความรู้จักความหมายของตราสารอนุพันธ์อย่างถ่องแท้เสียก่อน
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : Arbitrage กลยุทธ์ทำกำไรจากช่องว่างตลาดคริปโต
อนุพันธ์ไม่มีการส่งมอบสินค้าจริง
ตราสารอนุพันธ์ คือการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า ไม่ได้มีการส่งมอบสินค้ากันโดยตรงทันที กล่าวคือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงและเก็งกำไรเท่านั้น ผู้ลงทุนจะไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆ
อนุพันธ์สามารถซื้อขายได้ทั้งขาขึ้นและขาลง
ความพิเศษของตราสารอนุพันธ์ก็คือการที่สามารถซื้อขายและทำกำไรทั้งทั้งตลาดขาขึ้นรวมถึงตลาดขาลงจึงสามารถทำกำไรได้แม้ตลาดในภาพรวมจะเป็นขาลง
อนุพันธ์สามารถ Leverage ได้
อีกหนึ่งความพิเศษของตราสารอนุพันธ์คือสามารถใช้เงินเพียงเล็กน้อยแต่ทำกำไรได้ในอัตราที่สูงหรือที่เรียกว่า Leverage แต่หากขาดทุนก็จะเสียหายอย่างหนักเช่นกันและอาจถึงขั้นเป็นหนี้ได้เลยทีเดียว
เมื่อทำความรู้จักตราสารอนุพันธ์แล้วต่อไปมาทำความรู้จักโปรดักต์อนุพันธ์ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้กัน
Margin
เป็นโปรดักต์ที่มีการ Leverage ด้วยการกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลจาก Exchangec มาช่วยเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุน โปรดักต์ประเภทนี้ถูกออกแบบมาให้สร้างผลตอบแทนได้เฉพาะขาขึ้น และมักจะเริ่มต้นด้วย Leverage ที่ไม่สูงมากไม่เกินกว่า 5X จึงเหมาะสมกับมือใหม่ที่เพิ่งจะหัดเทรดอนุพันธ์
Futures
เป็นโปรดักต์ที่สามารถซื้อขายได้ทั้งขาขึ้นและขาลงและมี Leverage ในตัวเองที่สูงกว่าการเทรด Margin ข้อควรระวังคือเป็นโปรดักต์ที่มีช่วงระยะเวลาการซื้อขายที่ชัดเจนเช่น รายสัปดาห์ รายเดือนหรือรายไตรมาส หากหมดอายุตามที่ได้ระบุไว้ สัญญา Futures ก็จะหมดลง ผู้ที่ขาดทุนอยู่จะไม่มีโอกาสได้ผลตอบแทนคืนอีกต่อไป
Perpetual Swap
มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ Futures เพียงแต่ไม่กำหนดระยะเวลาที่สัญญาจะหมดลง นักเทรดสามารถซื้อขายหรือถือโปรดักต์ดังกล่าวไปได้ต่อเนื่อง
Options
เป็นตราสารอนุพันธ์รูปแบบหนึ่งที่ต่างจาก Futures โดยสามารถเลือกได้ทั้งขาขึ้น (Call) และขาลง (Put) สามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงและเก็งกำไรได้ ความแตกต่างจาก Futures คือหากขาดทุนจะมีความเสียหายแค่พอร์ตเป็นศูนย์แต่จะไม่ติดลบเหมือนกับ Futures
ตราสารอนุพันธ์ ของสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถแบ่งได้สองรูปแบบตามผู้ที่ให้บริการ แบบแรกคือให้บริการโดย Exchange ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเอง โดยมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Binance,OKEx,Huobi,Bitmex,Bitfinex ฯลฯ เป็นผู้นำตลาด
อีกแบบหนึ่งคือโปรดักต์ที่มาจากตลาด CME ซึ่งเป็นตลาดสินค้าอนุพันธ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ที่นครชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ที่เปิดซื้อขาย Bitcoin Futures มาตั้งแต่ปี 2017 และล่าสุดปี 2019 กับการเปิดซื้อขาย Bitcoin Options
ข้อแตกต่างคือโปรดักต์ของ CME จะให้บริการกับนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนที่ไม่ได้เปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแต่จะใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการซื้อขาย เนื่องจากนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง อย่างไรก็ตามราคาที่ซื้อขายจะอ้างอิงตามราคาบิทคอยน์ในตลาดโลก
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : 5 ขั้นตอนลงทุนใน Altcoin ให้ประสบความสำเร็จ