ข้อมูลจากเวบไซท์สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่าภายใต้พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ได้อนุญาตให้ทำการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับประชาชนทั่วไปได้สองรูปแบบคือ
เงินดิจิตอล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น หรือสิทธิอื่นใด โดยสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หาก เงินดิจิตอล ที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น Bitcoin Ethereum เป็นต้น
โทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (investmenttoken) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและ บริการหรือสิทธิอื่นๆ (utility token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน
ส่วนของ Utility Token เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยกระแสของการระดมทุนแบบ ICO ที่คึกคักในช่วงปี 2017 ได้เสนอขายโทเคนประเภทนี้เป็นส่วนใหญ่เกือบ 99% โดยผู้ถือโทเคนจะได้รับสิทธิตามที่ได้ตกลงกันไว้ด้วย Smart Contact แต่จะไม่ได้ถือหรือเป็นเจ้าของสินทรัพย์ใดๆ
ตัวอย่างเช่น ถือโทเคน XXX แล้วจะได้รับสิทธิส่วนลดในการใช้บริการต่างๆบนแพลตฟอร์มของผู้ออก ICO เป็นต้น ซึ่งข้อดีของโทเคนประเภทนี้คือมีความคล่องตัวสูง สามารถเสนอขายระดมทุนได้รวดเร็วเพราะไม่ค่อยมีกฎหมายห้ามสักเท่าไร แต่ข้อเสียคือการที่ผู้ถือโทเคนไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ใดๆ ทำให้โปรเจคท์ระดมทุนส่วนใหญ่เข้าข่ายการเป็น Scam หรือโปรเจคท์ไม่เกิดขึ้นจริง
สำนักงาน ก.ล.ต. มีความตั้งใจที่จะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่จริงหรือ STO (Securities Token Offering) เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ได้ถูกนำมาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลและเสนอขาย แต่การที่ต้องเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. หลักทรัพย์เดิม ที่ครอบคลุมถึงสินทรัพย์ที่เราคุ้นเคยกันนั่นคือ หุ้น กองทุนรวม ทองคำ ฯลฯ อาจมีความยุ่งยากวุ่นวายในการตีความข้อกฎหมาย จนอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการอนุญาตให้ระดมทุน
เป็นที่มาของ Investment Token ซึ่งมีความใกล้เคียงกับ STO เพราะมีสินทรัพย์จริงหนุนหลัง (Asset Back) แต่ความแตกต่างคือ STO เราจะได้สิทธิการเป็นเจ้าของในสินทรัพย์นั่นจริงๆผ่านโทเคน (จากปัจจุบันเป็นเจ้าของผ่านใบหุ้น) เช่น การเป็นเจ้าของหุ้นสามัญหรือเจ้าของในโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น ถ้าเราถือโทเคนของหุ้น XX เราจะได้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นและรับเงินปันผล
แต่กรณีของ InvestmentToken เราจะได้รับสิทธิในการร่วมลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆแทนแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น สิ่งที่เราจะได้รับคือสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในโทเคนนั้นๆตามข้อตกลง เช่น สิทธิการรับเงินปันผล สิทธิการได้ผลกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นโดยตรง แต่เชื่อว่าผู้ลงทุนส่วนใหญ่ต่างต้องการผลตอบแทนจากการถือครองสินทรัพย์อ้างอิงมากกว่าการเป็นเจ้าของตรง (เช่นเราซื้อหุ้นเพราะต้องการผลตอบแทนเงินปันผลหรือขายทำกำไรมากกว่าการเป็นเจ้าของบริษัท)
Investment Token จึงเป็นทางออกที่ลงตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้
ศึกษาข้อมูล พรก.สินทรัพย์ดิจิทัลได้ที่นี้ https://www.sec.or.th/th/pages/investors/digitalassetproduct.aspx
ทำความรู้จักกระบวนการ Tokenize ได้ที่บทความนี้